บาลีวันละคำ

อตฺตานํ อุปมํ กเร (บาลีวันละคำ 2,385)

อตฺตานํ อุปมํ กเร

อ่านออก แปลได้ รู้ความหมาย รู้ที่มา

อ่านว่า อัด-ตา-นัง อุ-ปะ-มัง กะ-เร

เป็นคำบาลี 3 คำ คือ “อตฺตานํ” “อุปมํ” “กเร

(๑) “อตฺตานํ

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “อตฺต” (อัด-ตะ) มาจากรากศัพท์ดังนี้ :

(1) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ปัจจัย

: อตฺ + = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –

๑) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้)

๒) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ)

๓) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)

(2) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: อทฺ + = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –

๑) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)

๒) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)

(3) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > )และ อา ที่ ธา (ธา > ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ

: อา + ธา = อาธา + = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)

อตฺต” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul) หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ

อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง

เขียนในภาษาไทยเป็น “อัตตา

ในทางปรัชญา “อัตตา” หมายถึง ความยึดมั่นในตัวเอง ที่เรียกกันว่า “ตัวกูของกู” หรือที่รู้กันในคำอังกฤษว่า ego

ในที่นี้ “อตฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง เปลี่ยนรูปเป็น “อตฺตานํ” (อัด-ตา-นัง)

(๒) “อุปมํ

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “อุปมา” (อุ-ปะ-มา) รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + มา (ธาตุ = เปรียบ, กะ, ประมาณ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: อุป + มา = อุปมา + กฺวิ = อุปมากฺวิ > อุปมา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องเปรียบเทียบ” หมายถึง ตัวอย่าง, อุปมา, ความเหมือนหรือคล้ายกัน, การเปรียบเทียบ (likeness, simile, parable, example)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปมา : (คำนาม) สิ่งหรือข้อความที่ยกมาเปรียบ, มักใช้เข้าคู่กับ อุปไมย ในประโยคเช่น เรื่องนี้มีอุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น.ก. เปรียบเทียบ. (ป., ส.).”

(๓) “กเร” (กะ-เร)

เป็นรูปคำกริยา “กิริยาอาขยาต” อธิบายแบบรวบรัดว่า ประกอบด้วย กรฺ (ธาตุ = ทำ) + เอยฺย วิภัตติอาขยาต (เอกพจน์ ประถมบุรุษ : “ปฐมบุรุษ” ในไวยากรณ์บาลีหมายถึง ผู้-หรือสิ่งที่ถูกพูดถึง), ลบ –ยฺย คงไว้แต่ เอ (เอยฺย > เอ)

: กรฺ + เอยฺย = กเรยฺย > กเร แปลว่า “(เขาหรือเธอ) พึงทำ

อตฺตานํ อุปมํ กเร” แปลตามศัพท์ว่า “(เขาหรือเธอ) พึงทำ ซึ่งตน ให้เป็นเครื่องเปรียบ” แปลเอาความว่า “พึงทำตนให้เป็นอุปมา

อธิบายว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น หัวอกเราอย่างไร หัวอกคนอื่นก็อย่างนั้น

เมื่อจะกระทำอะไรแก่ใคร ให้ลองนึกดูเสียก่อนว่า หากมีผู้มากระทำเช่นนั้นๆ แก่เรา เราจะมีความรู้สึกอย่างไร

คิดอย่างนี้ตรงกับคำที่กล่าวว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา

คำว่า “อตฺตานํ อุปฺมํ กเร” เป็นคติพจน์หรือคำขวัญของมหาวิทยาลัยมหิดล ถอดความได้ว่า “พึงปฏิบัติต่อผู้อื่น เหมือนดังปฏิบัติต่อตนเอง”

ที่มา :

คำว่า “อตฺตานํ อุปฺมํ กเร” เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากพุทธพจน์ในคัมภีร์พระธรรมบท (พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 20) ข้อความเดิมเป็นดังนี้ –

สพฺเพ ตสนฺติ ทณฺฑสฺส

สพฺเพ ภายนฺติ มจฺจุโน

อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา

น หเนยฺย น ฆาตเย.

(สัพเพ ตะสันติ ทัณฑัสสะ

สัพเพ ภายันติ มัจจุโน

อัตตานัง อุปะมัง กัต๎วา

นะ หะเนยยะ นะ ฆาตะเย)

แปลความว่า –

สรรพสัตว์ย่อมหวาดหวั่นต่อการถูกทำร้าย

สรรพสัตว์ย่อมหวาดกลัวต่อมฤตยู

บุคคลเปรียบเทียบตนกับคนอื่นแล้ว

ไม่ควรทำร้ายหรือฆ่าใคร ทั้งไม่ควรให้ใครทำด้วย

และอีกบทหนึ่ง ข้อความเดิมเป็นดังนี้ –

สพฺเพ ตสนฺติ ทณฺฑสฺส

สพฺเพสํ ชีวิตํ ปิยํ

อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา

น หเนยฺย น ฆาตเย.

(สัพเพ ตะสันติ ทัณฑัสสะ

สัพเพสัง ชีวิตัง ปิยัง

อัตตานัง อุปะมัง กัต๎วา

นะ หะเนยยะ นะ ฆาตะเย)

แปลความว่า –

สรรพสัตว์ย่อมหวาดหวั่นต่อการถูกทำร้าย

ชีวิตย่อมเป็นที่รักของสรรพสัตว์

บุคคลเปรียบเทียบตนกับคนอื่นแล้ว

ไม่ควรทำร้ายหรือฆ่าใคร ทั้งไม่ควรให้ใครทำด้วย

…………..

อธิบายขยายความ :

ข้อความเดิมในวรรคที่ว่า “อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา” ถูกนำมาดัดแปลงเป็น “อตฺตานํ อุปฺมํ กเร” คือ แปลง “กตฺวา” (แปลว่า “ทำแล้ว”) เป็น “กเร” (แปลว่า “พึงทำ”) ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางหลักไวยากรณ์

เนื่องจากคติพจน์หรือคำขวัญบทนี้ต้องการให้ข้อความเป็นประโยคสมบูรณ์ในวรรคเดียว แต่ในข้อความเดิม คำว่า “กตฺวา” ยังไม่จบประโยค ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “กตฺวา ใช้คุมพากย์ไม่ได้” จึงต้องแปลง “กตฺวา” เป็น “กเร” ซึ่งเป็นคำกริยาที่ทำให้จบประโยคสมบูรณ์ได้ เรียกตามภาษาไวยากรณ์ว่า “คุมพากย์ได้” แต่ความหมายยังคงเดิม

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมข้อความเดิม “อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา” จึงถูกแปลงเป็น “อตฺตานํ อุปฺมํ กเร

บาลีวันละคำวันนี้ มอบเป็นอภินันทนาการแด่ชาวมหิดลทั้งปวง (ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับวาระพิเศษใดๆ)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หัวใจที่ไร้คุณธรรมกำกับ

: คือศัตรูที่สร้างความระยำย่อยยับให้แก่ตัวเอง

#บาลีวันละคำ (2,385)

23-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย