บาลีวันละคำ

วิเวกภาวัน (บาลีวันละคำ 2,586)

วิเวกภาวัน

อ่านว่า วิ-เว-กะ-พา-วัน ก็ได้

อ่านว่า วิ-เวก-กะ-พา-วัน ก็ได้

แยกคำเป็น วิเวก + ภาวัน

(๑) “วิเวก

บาลีอ่านว่า วิ-เว-กะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + วิจฺ (ธาตุ = สงัด) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ วิ-(จฺ) เป็น เอ (วิจฺ > เวจ), แปลง จฺ เป็น

: วิ + วิจฺ = วิวิจฺ + = วิวิจณ > วิวิจ > วิเวจ > วิเวก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความสงัดอย่างวิเศษ” หมายถึง ความวิเวก, ความโดดเดี่ยว, การแยกออก, การอยู่โดดเดี่ยว; ความเดียวดายทางจิต, จิตที่อยู่ในอาการพินิจพิเคราะห์ (detachment, loneliness, separation, seclusion; singleness of heart, discrimination of thought)

วิเวก” เป็นธรรมะหมวดหนึ่งในพระพุทธศาสนา ขอนำข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [109] ว่าด้วย “วิเวก 3” มาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ –

…………..

วิเวก 3 (ความสงัด, ความปลีกออก — Viveka: seclusion)

1. กายวิเวก (ความสงัดกาย ได้แก่อยู่ในที่สงัดก็ดี ดำรงอิริยาบถและเที่ยวไปผู้เดียวก็ดี — Kāya-viveka: bodily seclusion i.e. solitude)

2. จิตตวิเวก (ความสงัดใจ ได้แก่ทำจิตให้สงบผ่องใส สงัดจากนิวรณ์ สังโยชน์ และอนุสัย เป็นต้น หมายเอาจิตแห่งท่านผู้บรรลุฌาน และอริยมรรค อริยผล — Citta-viveka: mental seclusion, i.e. the state of Jhāna and the Noble Paths and Fruitions)

3. อุปธิวิเวก (ความสงัดอุปธิ ได้แก่ธรรมเป็นที่สงบระงับสังขารทั้งปวง ปราศจากกิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ที่เรียกว่าอุปธิ หมายเอาพระนิพพาน — Upadhi-viveka: seclusion from the essentials of existence, i.e. Nibbāna)

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิเวก : (คำวิเศษณ์) เงียบสงัดทำให้รู้สึกเปล่าเปลี่ยวใจ, เงียบสงัดทำให้รู้สึกวังเวงใจ, เช่น อยู่ในวิเวก รู้สึกวิเวกวังเวงใจ. (ป.).”

(๒) “ภาวัน

บาลีเป็น “ภาวน” อ่านว่า พา-วะ-นะ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (อา-วะ)

: ภู + ยุ > อน = ภูน > โภน > ภาวน แปลตามศัพท์ว่า “คุณชาตที่ยังกุศลให้มีขึ้น” หมายถึง การทำให้เกิด, การอาศัยบางสิ่ง, การพร่ำคิดถึง (อะไรบางอย่าง), การเอาใจใส่, การทำให้พัฒนาโดยความคิดหรือวิปัสสนา, การปลูกฝังด้วยจิตใจ, การเพาะใจ (producing, dwelling on something, putting one’s thoughts to, application, developing by means of thought or meditation, cultivation by mind, culture)

พึงทราบว่า “ภาวน” คำนี้ โดยปกติแล้วจะ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “ภาวนา” (พา-วะ-นา)

ดังนั้น ในที่นี้จะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า “ภาวนา” ลบ อา เป็น “ภาวน” ดังนี้ก็ได้

ภาวน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ภาวัน

“-วน” ในบาลีเป็น “-วัน” ในภาษาไทย มีใช้ทั่วไป เช่น –

สาลวน” (สา-ละ-วะ-นะ) เป็น “สาลวัน” (สะ-ละ-วัน)

อมฺพวน” (อำ-พะ-วะ-นะ) เป็น “อัมพวัน” (อำ-พะ-วัน)

เวฬุวน” (เว-ลุ-วะ-นะ) เป็น “เวฬุวัน” (เว-ลุ-วัน)

คำว่า “ภาวัน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

วิเวก + ภาวน = วิเวกภาวน > วิเวกภาวัน แปลโดยประสงค์ว่า “การอบรมบ่มวิเวก” “สถานเป็นที่อบรมวิเวกให้เจริญขึ้น

อภิปราย :

ชื่อที่ลงท้ายว่า “-ภาวัน” ที่สังคมไทยได้ยินกันคุ้นหูในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา คือ “จิตตภาวัน” เป็นวัดและเป็นวิทยาลัยที่ท่านกิตติวุฑโฒภิกขุดำเนินการก่อสร้างขึ้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นัยว่าชื่อ “จิตตภาวัน” นี้เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทาน

เมื่อท่านกิตติวุฑโฒภิกขุล่วงลับไป “จิตตภาวัน” ก็ร่วงโรยตามไปด้วย

จิตตภาวัน” อ่านว่า จิด-ตะ-พา-วัน

…………..

คำว่า “วิเวกภาวัน” นี้ ตามหลักภาษาต้องอ่านว่า (1) วิ-เว-กะ-พา-วัน หรือ (2) วิ-เวก-กะ-พา-วัน

แต่ถ้าให้คนทั้งหลายอ่าน ก็คงอ่านกันว่า วิ-เวก-พา-วัน ซึ่งเป็นการอ่านตามสะดวกปาก คือตาเห็นคำเช่นนี้ ปากก็อ่านไปอย่างนี้ สะดวกดี

ในภาษาไทย เรารู้จักคำว่า “วิเวก” และออกเสียงว่า วิ-เวก จนคุ้นหูกันทั่วไป เมื่อไปเห็นคำว่า “วิเวก” จะมีคำอะไรต่อท้ายหรือไม่มีก็ตาม เราก็ยังคงติดปากกับการออกเสียงว่า วิ-เวก อยู่นั่นเอง

ทั้งนี้เพราะเราส่วนมากไม่สนใจและไม่รับรู้วิธีอ่านคำสมาสตามหลักภาษา แล้วเราก็พากันยอมรับว่าการอ่านตามสะดวกปากเช่นนี้เป็นความถูกต้องชนิดหนึ่ง ใช้คำเรียกว่า “อ่านตามความนิยม”

ผู้รู้ท่านกล่าวไว้ว่า “เสียงข้างมากบอกความนิยมได้ แต่บอกความถูกต้องไม่ได้”

แต่เวลานี้โลกเดินสวนทาง คือ เอาความนิยมเป็นความถูกต้อง

ถ้าเป็นเช่นนี้ ต่อไปถ้าคนส่วนมากนิยมทำความชั่ว การทำความชั่วก็จะเป็นความถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เราบังคับโลกให้สงบไม่ได้

: แต่พยายามฝึกจิตตัวเองให้สงบได้

—————-

(ตอบคำถามของ แด่เธอผู้ตื่น รู้ เบิกบาน)

ภาพประกอบ: โดยเมตตาธรรมของพระคุณท่าน ดร.พระมหาสุนันท์ รุจิเวทย์

#บาลีวันละคำ (2,586)

12-7-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *