บาลีวันละคำ

ธรรมปาละ (บาลีวันละคำ 2,590)

ธรรมปาละ

หนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

อ่านว่า ทำ-มะ-ปา-ละ

ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + ปาละ

(๑) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายครอบคลุมทุกข้อ

(๒) “ปาละ

บาลีเป็น “ปาล” (ปา-ละ) รากศัพท์มาจาก ปาลฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + ปัจจัย

: ปาลฺ + = ปาล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแล” หมายถึง ยาม, ผู้รักษา, ผู้คุ้มครอง, ผู้ป้องกัน (a guard, keeper, guardian, protector)

ปาล” คำนี้นิยมใช้ในภาษาไทยว่า “บาล” (บาน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บาล : (คำกริยา) เลี้ยง, รักษา, คุ้มครอง, ปกครอง, เช่น บาลเมือง, โดยมากใช้เป็นคำหลังสมาส เช่น โลกบาล รัฐบาล นครบาล โคบาล นิรยบาล. (ป., ส. ปาล).”

รูปคำบาลี : ธมฺม + ปาล = ธมฺมปาล อ่านว่า ทำ-มะ-ปา-ละ แปลได้ 2 นัย คือ (1) “ผู้อันธรรมรักษา” (2) “ผู้รักษาธรรม

ธมฺมปาล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมปาละ” อ่านว่า ทำ-มะ-ปา-ละ ตรงตามคำบาลี

ขยายความ :

ธรรมปาละ” ในที่นี้หมายถึง “อนาคาริก ธรรมปาละ” (17 กันยายน 2407-29 เมษายน 2476) เป็นชาวศรีลังกา เดิมชื่อ ดอน ดาวิด เหวาวิตรเน (Don David Hewavitarne) เมื่อสละบ้านเรือนออกทำงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาจึงใช้นามว่า “อนาคาริก ธรรมปาละ” (Anāgārika Dhammapāla, Anagarika Dhammapala) แปลว่า “อนาคาริกผู้ปกป้องธรรม” หรือ “ธรรมปาละผู้ไม่ครองเรือน” มักเรียกกันว่า “ธรรมปาละ

ท่านธรรมปาละเป็นผู้อุทิศชีวิตทำงานเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์ (Maha Bodhi Society) และเป็นผู้นำเรียกร้องเอาพุทธสถานในอินเดียกลับคืนมาเป็นของชาวพุทธ

บั้นปลายชีวิตท่านธรรมปาละอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา พำนักที่สารนาถ เมืองพาราณสี และมรณภาพที่นั่น

“สารนาถ” เป็นหนึ่งในสังเวชนียสถานซึ่งในสมัยพุทธกาลมีชื่อว่า “อิสิปตนมิคทายวัน” เป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาคือธัมมจักกัปวัตนสูตร โปรดเบญจวัคคีย์ในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะหลังจากตรัสรู้แล้วได้ 2 เดือน

…………..

นึกถึงเพ็ญเดือนอาสาฬหะ

นึกถึงไตรรัตนะ

และ-นึกถึง “ธรรมปาละ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาธรรม

: ก็จะไม่เหลือธรรมไว้ช่วยรักษาเรา

#บาลีวันละคำ (2,590)

16-7-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *