บาลีวันละคำ

มานุษยวิทยา (บาลีวันละคำ 2,707)

มานุษยวิทยา

ทำไมไม่เป็น “มนุษยวิทยา”

พจนานุกรมฯ บอกว่า

อ่านว่า มา-นุด-สะ-ยะ-วิด-ทะ-ยา ก็ได้

อ่านว่า มา-นุด-วิด-ทะ-ยา ก็ได้

ผู้เขียนบาลีวันละคำบอกว่า

จงอ่านว่า มา-นุด-สะ-ยะ-วิด-ทะ-ยา เท่านั้น

อย่าอ่านว่า มา-นุด-วิด-ทะ-ยา เพราะเป็นการอ่านแบบ “รักง่าย”

ประกอบด้วยคำว่า มานุษย + วิทยา

(๑) “มานุษย

เป็นรูปคำสันสกฤต คำเดิมคือ “มนุษย” บาลีเป็น “มนุสฺส” (มะ-นุด-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มน (ใจ) + อุสฺส (สูง) = มนุสฺส แปลว่า “ผู้มีใจสูง

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุสฺส ปัจจัย = มนุสฺส แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์

(3) มนุ (มนู = มนุษย์คนแรก) + อุสฺส (แทนศัพท์ อปจฺจ = เหล่ากอ หรือ ปุตฺต = ลูก) = มนุสฺส แปลว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของมนู” หรือ “ผู้เป็นลูกของมนู

มนุสฺส” (ปุงลิงค์) หมายถึง มนุษย์, คน (a human being, man)

บาลี “มนุสฺส” สันสกฤตเป็น “มนุษฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

มนุษฺย : (คำนาม) มนุษย์, มนุษยชาติ; man, mankind.”

ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).”

มนุสฺส” หรือ “มนุษฺย” นั่นเองนำไปเข้ากระบวนการทางไวยากรณ์เพื่อเปลี่ยนความหมายให้หมายถึง “เกี่ยวกับมนุษย์” จึงกลายรูปเป็น “มานุษฺย

หลักการนี้นักเรียนบาลีรู้จักในคำพูดว่า “ทีฆะต้นธาตุ” หรือ “ทีฆะต้นศัพท์” ที่พบบ่อยคือ อะ เป็น อา โดยมากเกิดจาก “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (เคยกล่าวถึงบ่อยๆ ในบาลีวันละคำ)

อย่างในที่นี้ “ทีฆะต้นศัพท์” คือ อะ ที่ – เป็น อา จาก “มนุษฺย” จึงเป็น “มานุษฺย

คำเทียบอื่นๆ ก็อย่างเช่น :

จร (เที่ยวไป) = จาร (ผู้เที่ยวไป, ผู้สอดแนม)

ชนปท (ชนบท) = ชานปท (ชาวชนบท)

นคร (เมือง) = นาคร (ชาวเมือง)

สกล (ทั้งสิ้น) = สากล (ทั่วไป)

สกฺก (กษัตริย์วงศ์สักกะ) = สากฺย (เชื้อสายกษัตริย์วงศ์สักกะ)

แต่ในบาลี “มนุสฺส” ไม่ได้เปลี่ยนรูปเป็น “มานุสฺส” หากแต่เปลี่ยนเป็น “มานุส” (มา-นุ-สะ, ตัวเดียว) หรือ “มานุสฺสิก” (มา-นุด-สิ-กะ, 2 ตัว แต่ลง อิก ปัจจัย) ซึ่งไม่ได้นำมาใช้ในภาษาไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มานุษ, มานุษย– : (คำนาม) คน, เพศคน. (คำวิเศษณ์) เกี่ยวกับคน, ของคน. (ส.).”

แทรก หลักความรู้ง่ายๆ :

ถ้าใครถามว่า “มนุษย์” (มะ- ) กับ “มานุษย์” (มา- ) ความหมายต่างกันตรงไหน ก็ตอบไปว่า –

มนุษย์” หมายถึงตัวมนุษย์ตรงๆ

มานุษย์” หมายถึงสิ่งที่เกี่ยวกับมนุษย์

(๒) “วิทยา

บาลีเป็น “วิชฺชา” รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)

บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา

โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”

อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์บาลี คำว่า “วิชฺชา” มักใช้ในความหมายเฉพาะ คือหมายถึงญาณปัญญาที่บรรลุได้ด้วยการฝึกจิต

วิชฺชา” ถ้าคงรูปบาลี ในภาษาไทยใช้ว่า “วิชา” (ตัด ออกตัวหนึ่ง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิชา : (คำนาม) ความรู้, ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน, เช่น วิชาภาษาไทย วิชาช่าง วิชาการฝีมือ. (ป. วิชฺชา; ส. วิทฺยา).”

วิชา” ตามความหมายในภาษาไทย ตรงกับคำว่า “สิปฺป” (สิบ-ปะ) ที่เราเอามาใช้ว่า “ศิลปะ

สิปฺป” ในบาลีหมายถึง ความสามารถที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นผลสำเร็จได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทำได้ทำเป็นไม่ว่าจะในเรื่องอะไร นั่นแหละคือ “สิปฺปศิลปะ” หรือ “วิชา” ตามที่เข้าใจกันในภาษาไทย

วิทยา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิทยา : (คำนาม) ความรู้, มักใช้ประกอบกับคําอื่น เช่น วิทยากร วิทยาคาร จิตวิทยา สังคมวิทยา. (ส.).”

มานุษย + วิทยา = มานุษยวิทยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มานุษยวิทยา : (คำนาม) วิชาว่าด้วยเรื่องตัวคน และสิ่งที่คนสร้างขึ้น. (อ. anthropology).”

มานุษยวิทยา” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า anthropology

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล anthropology เป็นบาลีว่า:

māṇavavijjā มาณววิชฺชา (มา-นะ-วะ-วิด-ชา) = วิชาว่าด้วยคน

…………..

เพื่อให้รู้จักความหมายกว้างๆ ของคำว่า “มานุษยวิทยา” (เมื่อใครพูดถึง “มานุษยวิทยา” ก็พอรู้ว่าเขากำลังพูดถึงอะไร) ขอยกข้อความส่วนหนึ่งจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “มานุษยวิทยา” มาเสนอไว้ในที่นี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้ (ไม่พึงเชื่อตามนี้ไปหมดทุกคำ)

…………..

ลักษณะงานของนักมานุษยวิทยา

ศึกษากำเนิดและวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ กลุ่มวัฒนธรรม รวมถึงสังคมมนุษย์ ในขั้นพัฒนาการของสังคมด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างทางสังคม ระบบความเชื่อ องค์กรและสถาบันทางการเมือง ประเพณีและพิธีกรรม วัฒนธรรม ความเชื่อ อุดมการณ์ จารีตประเพณี และกฎหมาย บนรากฐานทางเศรษฐกิจ ทั้งที่สอดคล้องต้องกัน และขัดแย้งกัน ทั้งที่ตกผลึกแล้ว หรืออยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน “นักมานุษยวิทยากายภาพ” ศึกษาความเปลี่ยนแปลงด้านรูปลักษณ์และรูปร่างของมนุษย์และความเป็นมาของวัฒนธรรมและสังคมที่เกี่ยวข้อง : จัดประเภทเผ่าพันธุ์และพัฒนาการทางเผ่าพันธุ์มนุษย์ โดยศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่มาต่างๆ เช่น บันทึกทางประวัติศาสตร์ โบราณสถานและโบราณวัตถุ ชาติพันธุ์วรรณนา และประสบการณ์ทางวิชาการต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการเปรียบเทียบลักษณะรูปร่างของมนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์ที่ยังคงมีซากเหลืออยู่กับกลุ่มเผ่าพันธุ์มนุษย์ในปัจจุบัน อาจเชี่ยวชาญในการศึกษาวัฒนธรรมของมนุษยชาติในสมัยดึกดำบรรพ์และวัฒนธรรมของมนุษย์ในสมัยที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสังคมที่สืบเนื่องมาแต่โบราณกาล รวมทั้งการสังเกตเกี่ยวกับความเป็นมาของวัฒนธรรม เช่น พิธีการทางศาสนา วรรณคดี งานฝีมือ และความเป็นมาของสังคม อาจเชี่ยวชาญในเรื่องรูปร่างของมนุษยชาติ มนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์ ชีววิทยาของประชากรมนุษย์ และการสืบพันธุ์ อาจเชี่ยวชาญทางด้านภาษาของมนุษยชาติตามสาขาวัฒนธรรมที่สำคัญๆ อาจเชี่ยวชาญทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของมนุษยชาติเฉพาะเรื่องที่สำคัญ

ที่มา: มานุษยวิทยา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2562 เวลา 20:30)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนมานุษยวิทยาจบสากล

: แต่ไม่รู้เรื่องของตน-ก็โง่ตาย

#บาลีวันละคำ (2,707)

10-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย