บาลีวันละคำ

เลียบพระนคร (บาลีวันละคำ 2,738)

เลียบพระนคร

บาลีว่าอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเก็บไว้ทั้งคำว่า “เลียบพระนคร” และ “เลียบเมือง

คำว่า “เลียบพระนคร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

เลียบพระนคร : (คำกริยา) เสด็จพระราชดำเนินประทักษิณรอบพระนครภายหลังบรมราชาภิเษกแล้ว, สามัญใช้ว่า เลียบเมือง.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

เลียบพระนคร : (คำกริยา) เสด็จพระราชดำเนินรอบพระนครภายหลังบรมราชาภิเษกแล้ว, เลียบเมือง ก็ว่า.”

ส่วนคำว่า “เลียบเมือง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

เลียบเมือง : (คำกริยา) เสด็จพระราชดําเนินประทักษิณรอบพระนครภายหลังบรมราชาภิเษกแล้ว.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

เลียบเมือง : (ภาษาปาก) (คำกริยา) เสด็จพระราชดำเนินรอบพระนครภายหลังบรมราชาภิเษกแล้ว, เลียบพระนคร ก็ว่า.”

ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ :

– พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า “เสด็จพระราชดำเนินประทักษิณรอบพระนคร”

– พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้เป็น “เสด็จพระราชดำเนินรอบพระนคร”

นั่นคือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตัดคำว่า “ประทักษิณ” ออกไป

คำว่า “เลียบพระนคร” หรือ “เลียบเมือง” ในภาษาไทย ภาษาบาลีใช้คำว่า “นครํ ปทกฺขิณํ กรฺ ธาตุ”

ที่บอกว่า “กรฺ ธาตุ” (อ่านว่า กะระ-ทาด) หมายความว่า คำกริยาใช้ กรฺ ธาตุ ซึ่งมีความหมายว่า “ทำ” รูปประโยคสำเร็จอาจเป็น :

– นครํ ปทกฺขิณํ กโรติ

– นครํ ปทกฺขิณํ อกาสิ

– นครํ ปทกฺขิณํ กโรนฺโต

– นครํ ปทกฺขิณํ กตฺวา

กโรติ” “อกาสิ” “กโรนฺโต” “กตฺวา” เป็นคำกริยาที่สำเร็จมาจาก กรฺ ธาตุ อาจมีรูปเป็นอย่างอื่นอีกนอกจากที่แสดงไว้นี้ ขึ้นอยู่กับบริบทหรือข้อความแวดล้อมในที่นั้นๆ

จึงกล่าวเป็นหลักกลางๆ ว่า —

…………..

คำว่า “เลียบพระนคร” หรือ “เลียบเมือง” ภาษาบาลีใช้ว่า “นครํ ปทกฺขิณํ กรฺ ธาตุ” หรือพูดเป็นเสียงไทยว่า นะคะรัง ปะทักขิณัง กะระ-ทาด

…………..

(๑) “นครํ” คำเดิมคือ “นคร” (นะ-คะ-ระ) แปลว่า “เมือง” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “นครํ

(๒) “ปทกฺขิณํ” คำเดิมคือ “ปทกฺขิณ” (ปะ-ทัก-ขิ-นะ) แปลว่า “เวียนขวา” หรือทับศัพท์ว่า “ประทักษิณ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปทกฺขิณํ

(๓) กรฺ ธาตุ แปลว่า “ทำ” (คำว่า “แปลว่า” นี้ สำนวนไวยากรณ์ของนักเรียนบาลีในเมืองไทยนิยมพูดว่า “ในอรรถว่า” = กรฺ ธาตุ ในอรรถว่า ทำ) ประกอบวิภัตติปัจจัยเปลี่ยนรูปไปตามบริบท

รวมทั้งประโยค “นครํ ปทกฺขิณํ กรฺ ธาตุ” แปลว่า “ทำการเวียนขวารอบเมือง

แปลโดยสันทัดว่า “ทำประทักษิณรอบพระนคร

ตรงกับที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า “เสด็จพระราชดำเนินประทักษิณรอบพระนคร”

สำนวน “นครํ ปทกฺขิณํ กรฺ ธาตุ” = “ทำประทักษิณรอบพระนคร” นี้ มีใช้ดาษดื่นในคัมภีร์บาลี ในโอกาสที่พระราชาพระองค์ใหม่ได้รับราชสมบัติบ้าง ในคราวที่พระราชาเสด็จไประงับเหตุร้ายชายแดนได้ชัยชนะกลับมาถึงพระนครบ้าง ในโอกาสเทศกาลงานฉลองอันเป็นมงคลต่างๆ ของบ้านเมืองบ้าง แม้กระทั่งในคราวที่ไปยึดบ้านเมืองอื่นได้ก็ยังนิยมทำประทักษิณรอบเมืองนั้นเพื่อแสดงพระองค์ให้ชาวเมืองได้รู้จัก

สรุปว่า “นครํ ปทกฺขิณํ กรฺ ธาตุ” = “ทำประทักษิณรอบพระนคร” หรือ “เลียบพระนคร” นี้ เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของบ้านเมืองอันมีมาแต่โบราณกาล

ทบทวนความ :

เมืองไทยจะมีขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2562 อันเป็นพระราชพิธีเบื้องปลายแห่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ขอทบทวนความดังนี้ –

…………..

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ เป็นที่ปลาบปลื้มปีติยินดีของพสกนิกรโดยทั่วกัน มีกำหนดการพระราชพิธีเป็น 3 ช่วง คือ

1. พระราชพิธีเบื้องต้น ประกอบด้วย การเตรียมน้ำอภิเษก การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร ระหว่างวันที่ 6 – 23 เมษายน พุทธศักราช 2562

2. พระราชพิธีเบื้องกลาง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก กำหนดวันที่ 2 – 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562

3. พระราชพิธีเบื้องปลาย เดิมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดเป็นการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปยังวัดอรุณราชวราราม ในวันที่ 24 เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2562 ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคกำหนดวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2562

…………..

ดูก่อนภราดา!

พึงสดับพระพุทธพจน์ :

สพฺพํ รฏฺฐํ สุขํ เสติ

ราชา เจ โหติ ธมฺมิโก.

ที่มา: ธัมมิกสูตร จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 21 ข้อ70

: ปวงราษฎร์สุขสวัสดิ์

: ถ้าผู้ครองอำนาจรัฐดำรงธรรม

#บาลีวันละคำ (2,738)

11-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย