บาลีวันละคำ

อุปจาร (บาลีวันละคำ 2,760)

อุปจาร

แปลว่า เฉียดๆ

แต่บางเรื่องอย่าเฉียดดีกว่า

ภาษาไทยอ่านว่า อุ-ปะ-จาน

ภาษาบาลีอ่านว่า อุ-ปะ-จา-ระ

ประกอบด้วย อุป + จาร

(๑) “อุป

อ่านว่า อุ-ปะ ถ้าเขียนเป็น “อุป-” มีขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค

ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น

อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ –

(1) ข้างบน, บน (on upon, up)

(2) ข้างนอก (out)

(3) สุดแต่ (up to)

(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)

(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)

(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)

(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย –, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by — , miniature, made after the style of)

(๒) “จาร

บาลีอ่านว่า จา-ระ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = เที่ยวไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (จรฺ > จาร)

: จรฺ + = จรณ > จร > จาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเที่ยวไป” หมายถึง การเคลื่อนไหว, การเดิน, การไป; การกระทำ, ความประพฤติ, การปฏิบัติ, พิธีกรรม (motion, walking, going; doing, behaviour, action, process)

อุป + จาร = อุปจาร บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-จา-ระ

จาร” คำเดียว มีความหมายอย่างหนึ่ง เมื่อมี “อุป” นำหน้าเป็น “อุปจาร” ความหมายก็ขยายออกไปอีกหลายอย่าง

อุปจาร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การเข้าใกล้, การเข้าถึง (approach, access)

(2) กิจวัตร, ความประพฤติ, ทางปฏิบัติ, นิสัย (habit, practice, conduct)

(3) หนทาง, วิธีใช้, วิถีทาง, การใช้  (way, means application, use of)

(4) อุปจาร, ทางเข้า, ทางเข้าถึง, คือถิ่นหรือละแวกบ้านที่อยู่ติดกับที่ที่จะเข้าไปนั้น (entrance, access, i. e. immediate vicinity or neighbourhood of)

(5) ความเอาใจใส่, ความตั้งใจ, การติดตามหรือเฝ้าอยู่ (attention, attendance)

(6) ความสุภาพ, ความประพฤติเรียบร้อย (civility, polite behaviour)

อุปจาร” เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทย ความหมายก็ชี้เฉพาะไปอีกทางหนึ่ง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปจาร : (คำนาม) การเข้าใกล้, ที่ใกล้, บริเวณรอบ ๆ เช่น อุปจารวัด. (ป., ส.).”

ขยายความ :

ในทางพระวินัยและทางธรรม “อุปจาร” มีความหมายที่น่ารู้บางประการ ขอนำข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้

…………..

(1) อุปจาร : เฉียด, จวนเจียน, ที่ใกล้ชิด, ระยะใกล้เคียง, ชาน, บริเวณรอบๆ; ดังตัวอย่างคำที่ว่า อุปจารเรือน อุปจารบ้าน แสดงตามที่ท่านอธิบายในอรรถกถาพระวินัยดังนี้

อาคารที่ปลูกขึ้นร่วมในแค่ระยะน้ำตกที่ชายคาเป็นเรือน, บริเวณรอบๆ เรือนซึ่งกำหนดเอาที่แม่บ้านยืนอยู่ที่ประตูเรือนสาดน้ำล้างภาชนะออกไป หรือแม่บ้านยืนอยู่ภายในเรือน โยนกระด้งหรือไม้กวาดออกไปภายนอกตกที่ใด ระยะรอบๆ กำหนดนั้นเป็นอุปจารเรือน

บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดี ยืนอยู่ที่เขตอุปจารเรือน ขว้างก้อนดินไป ก้อนดินที่ขว้างนั้นตกลงที่ใด ที่นั้นจากรอบๆ บริเวณอุปจารเรือน เป็นกำหนด เขตบ้าน, บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดีนั้นแหละ ยืนอยู่ที่เขตบ้านนั้นโยนก้อนดินไปเต็มกำลัง ก้อนดินตกเป็น เขตอุปจารบ้าน; สีมาที่สมมติเป็นติจีวราวิปปวาสนั้น จะต้องเว้นบ้านและอุปจารบ้านดังกล่าวนี้เสียจึงจะสมมติขึ้น คือใช้เป็นติจีวราวิปปวาสสีมาได้; ดู ติจีวราวิปปวาสสีมา ด้วย

ขยายความแทรกในข้อ (1) :

ที่ว่า “สีมาที่สมมติเป็นติจีวราวิปปวาสนั้น จะต้องเว้นบ้านและอุปจารบ้านดังกล่าวนี้” ขยายความให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าจะสร้างโบสถ์สักหลังหนึ่ง บริเวณโดยรอบโบสถ์จะต้องอยู่ห่างจากบ้านคนตามระยะที่ท่านอธิบายไว้นั้น จึงจะถูกต้องตามหลักพระวินัย

(2) อุปจารภาวนา : ภาวนาขั้นจวนเจียน คือเจริญกรรมฐานถึงขั้นเกิดอุปจารสมาธิ (ข้อ ๒ ในภาวนา ๓)

(3) อุปจารสมาธิ : สมาธิจวนจะแน่วแน่, สมาธิที่ยังไม่ดิ่งถึงที่สุด เป็นขั้นทำให้กิเลสมีนิวรณ์เป็นต้นระงับ ก่อนจะเป็นอัปปนา คือถึงฌาน (ข้อ ๑ ในสมาธิ ๒, ข้อ ๒ ในสมาธิ ๓)

(4) อุปจารแห่งสงฆ์ : บริเวณรอบๆ เขตสงฆ์ชุมนุมกัน

ขยายความแทรกในข้อ (4) :

บริเวณรอบๆ เขตสงฆ์ชุมนุมกัน” ที่ชาวบ้านคงจะคุ้นกันดี แต่ไม่รู้ว่าคำพระท่านเรียกว่าอะไร ก็อย่างเช่น-เวลามีบวชนาค ชาวบ้านเข้าไปดูพิธีการในโบสถ์ได้ แต่เมื่อถึงตอนที่พระท่านจะสวดกรรมวาจา จะมีคนคอยบอกให้ญาติโยมถอยห่างออกไปให้พ้นจากเขตที่พระสงฆ์นั่ง ระยะห่างนั่นแหละคือ “บริเวณรอบๆ เขตสงฆ์ชุมนุมกัน” หรือ “อุปจารแห่งสงฆ์” บางทีก็พูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ถอยออกไปให้พ้นหัตถบาส

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คูถ แค่เข้าใกล้ก็น่ารังเกียจ

: นรก แค่เฉียดก็ไม่น่าลอง

—————-

ตอบคำถามของคุณครู พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์

#บาลีวันละคำ (2,760)

2-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *