บาลีวันละคำ

อิฐวิบูลมนุญผล (บาลีวันละคำ 2,761)

อิฐวิบูลมนุญผล

คำดีเพื่อให้ทำดี

อ่านว่า อิด-ถะ-วิ-บูน-มะ-นุน-ยะ-ผน

ประกอบด้วยคำว่า อิฐ + วิบูล + มนุญ + ผล

(๑) “อิฐ

บาลีเป็น “อิฏฺฐ” อ่านว่า อิด-ถะ รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา; แสวงหา) + ปัจจัย, แปลง สฺต (คือ สฺ ที่ อิสฺ ธาตุ กับ ปัจจัย) เป็น ฏฺฐ (มีจุดใต้ ฏฺ)

: อิสฺ + = อิสฺต > อิฏฺฐ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “-ที่พึงปรารถนา” (2) “-ที่พึงแสวงหา

อิฏฺฐ” เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ชื่นชม, ยินดี, พอใจ, ดีใจ (pleasing, welcome, agreeable, pleasant)

อิฏฺฐ” เป็นนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง สวัสดิการ, ความดี, ความพึงพอใจ, ความสุข (welfare, good state, pleasure, happiness)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิฏฐ-, อิฐ– ๑ : (คำวิเศษณ์) น่าปรารถนา, เป็นที่พอใจ, ต้องใจ, น่ารัก. (ป.; ส. อิษฺฏ).”

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ เก็บไว้ทั้ง “อิฏฐ-” (ไม่ตัดตัวสะกด) และ “อิฐ-” (ตัดตัวสะกด) ขีด – ท้าย หมายถึงไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะต้องมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น “อิฐผล” (อิด-ถะ-ผน) พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

อิฐผล : (คำนาม) ผลเป็นที่พอใจ. (ป. อิฏฺฐผล).”

และโปรดสังเกตต่อไปด้วยว่า พจนานุกรมฯ เก็บไว้เฉพาะ “อิฐผล” (ตัดตัวสะกด) แต่ไม่ได้เก็บ “อิฏฐผล” (ไม่ตัดตัวสะกด) คือคำที่ขึ้นต้นด้วย “อิฏฐ-” (ไม่ตัดตัวสะกด) แล้วมีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายนั้นไม่มีในพจนานุกรมฯ

(๒) “วิบูล

บาลีเป็น “วิปุล” อ่านว่า วิ-ปุ-ละ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปุลฺ (ธาตุ = มาก, ใหญ่) + (อะ) ปัจจัย

: วิ + ปุลฺ = วิปุลฺ + = วิปุล (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “มีมาก” หรือ “ใหญ่” หมายถึง ใหญ่, กว้างขวาง, ยิ่งใหญ่, ล้นเหลือ (large, extensive, great, abundant)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

วิปุล : (คำคุณศัพท์) ‘วิบุล,’ ใหญ่, กว้าง; ลึก, ซึ้ง; large, great, broad; deep, profound;- (คำนาม) เมรุบรรพต; ภูเขาหิมาลัย; นรผู้ควรบูชา; พสุธา; the mountain Meru; the Himālaya mountain; a respectable man; the earth.”

ในภาษาไทย เอาคำที่มีเค้าเงื่อนมาจาก “วิปุล” มาใช้หลายรูป เช่น วิบุล วิบูล วิบุลย์ วิบูลย์ พิบุล พิบูล และที่มาจากรากเดียวกันกับ วิปุล > เวปุลฺล > ไวปุลฺย > ไพบูลย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิบุล, วิบูล : (คำวิเศษณ์) เต็ม, กว้างขวาง, มาก, ใช้ว่า วิบุลย์ หรือ วิบูลย์ ก็มี. (ป., ส. วิปุล).”

(๓) “มนุญ

บาลีเป็น “มนุญฺญ” อ่านว่า มะ-นุน-ยะ รากศัพท์มาจาก มน (ใจ) + ญา (ธาตุ = ยินดี), ซ้อน ญฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (มน + ญฺ + ญา) + (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ญา (ญา > ), แปลง อะ ที่ (ม)- เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อุ (มน > มโน > มนุ)

: มน + ญฺ + ญา = มนญฺญา > มนญฺญ + = มนญฺญ > มโนญฺญ > มนุญฺญ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “-ที่ยังใจให้ยินดียิ่ง” หมายถึง เป็นที่พึงใจ, เป็นที่เจริญใจ, งดงาม (pleasing, delightful, beautiful)

ถ้าเป็นคำขยายกริยา (กริยาวิเศษณ์) แปลว่า อย่างรื่นรมย์, อย่างเป็นที่เจริญใจ (pleasantly, delightfully)

มนุญฺญ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยม ใช้เป็น “มนุญ” อ่านว่า มะ-นุน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า มะ-นุน-ยะ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มนุญ : (คำวิเศษณ์) เป็นที่พอใจ, งาม. (ป. มนุญฺญ).”

(๔) “ผล

บาลีอ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + (อะ) ปัจจัย

: ผลฺ + = ผล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร

ผล” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)

(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)

(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)

ในที่นี้ “ผล” ใช้ในความหมายตามข้อ (2)

คำว่า “ผล” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ผล : (คำนาม) ส่วนของพืชที่เจริญมาจากรังไข่ เช่น ผลมะม่วง ผลมะปราง; สิ่งที่เกิดจากการกระทำ เช่น ผลแห่งการทำดี ผลแห่งการทำชั่ว; ประโยชน์ที่ได้รับ เช่น ทำนาได้ผล เรียนได้ผล; ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล, คู่กับ มรรค; ลักษณนามเรียกผลไม้ เช่น มะม่วง ๒ ผล มะปราง ๓ ผล; จำนวนที่ได้จากการคำนวณ เช่น ๕ กับ ๗ บวกกัน ได้ผลเท่ากับ ๑๒, ผลลัพธ์ ก็ว่า. (ป., ส.).”

การประสมคำ :

อิฐวิบูลมนุญผล” มีคำที่เป็นคำนามคือ “ผล” คำข้างหน้าเป็นคุณศัพท์ (คำวิเศษณ์) ทั้งหมด กล่าวคืออาจประสมเป็น –

อิฐ + ผล = อิฐผล (อิด-ถะ-ผน) = ผลที่พอใจ

วิบูล + ผล = วิบูลผล (วิ-บูน-ละ-ผน) = ผลที่กว้างขวาง

มนุญ + ผล = มนุญผล (มะ-นุน-ยะ-ผน) = ผลที่เจริญใจ

แล้วตัดเอาเฉพาะคุณศัพท์มาประสมเป็น อิฐวิบูลมนุญ + ผล = อิฐวิบูลมนุญผล แปลตามศัพท์ว่า “ผลที่พอใจกว้างขวางเจริญใจ

อิฐวิบูลมนุญผล” เป็นคำที่พระสงฆ์ท่านใช้ในประโยคอวยพร เช่นอวยพรในเทศกาลปีใหม่เป็นต้น ความหมายของ “อิฐวิบูลมนุญผล” ก็คงรวมอยู่ในคำว่า ขออิฐวิบูลมนุญผล กล่าวคือผลอันใดที่พอใจ จุใจ เจริญใจ ขอผลอันนั้นจงสำเร็จสมความปรารถนาเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ปรารถนาดีต่อกัน สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

: อีกครึ่งหนึ่ง-ต้องทำเอง

#บาลีวันละคำ (2,761)

3-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *