บาลีวันละคำ

อาชา ทำไมจึงแปลว่าม้า (บาลีวันละคำ 2,821)

อาชา ทำไมจึงแปลว่า ม้า

คำว่า “อาชา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกคำแปลไว้สั้นๆ ว่า “ม้า

ในภาษาบาลีไม่มีศัพท์ว่า “อาชา” ตรงๆ

อาชา” ที่ภาษาไทยแปลว่า “ม้า” นั้น ผู้รู้ท่านว่า ตัดมาจากคำว่า “อาชาไนย

อาชาไนย” บาลีเป็น “อาชานีย” (อา-ชา-นี-ยะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + ญา (ธาตุ = รู้แจ้ง) + อนีย ปัจจัย, แปลง ญา เป็น ชา

: อา + ญา = อาญา + อนีย= อาญานีย > อาชานีย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้แจ้งซึ่งเหตุและมิใช่เหตุได้ดี” คือสามารถฝึกให้รู้ได้อย่างดี

ตามคำแปลนี้ “อาชานีย” เป็นคำคุณศัพท์ ถ้าแสดงลักษณะของบุคคล ก็หมายถึงคนที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาแล้วอย่างดีเลิศ มีสติปัญญารู้เหตุผล สามารถตัดสินใจกระทำการต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง กล้าหาญและเด็ดเดี่ยว

ถ้าแสดงลักษณะของสัตว์ ก็หมายถึงสัตว์ชนิดที่สามารถฝึกให้ใช้งานได้ เช่นช้างหรือม้าเป็นต้น และได้ถูกฝึกมาแล้วโดยครูฝึกชั้นยอด จนสามารถบังคับควบคุมให้ทำงานตามที่ฝึกมาได้เป็นอย่างดีเยี่ยม เช่นช้างศึก ม้าศึก ที่ผ่านสงครามมาแล้วอย่างโชกโชน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “อาชานีย” และแสดงความเห็นไว้ว่า –

.. of good race or breed; almost exclusively used to denote a thoroughbred horse. (มีกำเนิด หรือเผ่าพันธุ์ดี; โดยมากที่สุดใช้แสดงถึงม้าพันธุ์ดีแทบทั้งนั้น)

อนึ่ง ในภาษาบาลี “อาชานีย” มีรูปศัพท์เป็น “อาชานิย” (ต่างกันที่ –นิ– กับ –นี-) ก็มี เป็น “อาชาเนยฺย” ก็มี และกลายรูปเป็น “อาชญฺญ” ก็มี

อาชานีย” ในภาษาไทยใช้เป็น “อาชาไนย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาชาไนย : (คำวิเศษณ์) กําเนิดดี, พันธุ์หรือตระกูลดี; รู้รวดเร็ว, ฝึกหัดมาดีแล้ว, ถ้าเป็นม้าที่ฝึกหัดมาดีแล้ว เรียก ม้าอาชาไนย, ถ้าเป็นคนที่ฝึกหัดมาดีแล้ว เรียกว่า บุรุษอาชาไนย. (ป. อาชาเนยฺย; ส. อาชาเนย).”

ในภาษาไทย คำว่า “อาชาไนย” มักเข้าใจกันในความหมายว่าม้าที่ถูกฝึกมาเป็นอย่างดี จนกระทั่งพูดตัดคำเป็น “อาชา” และแปลว่า ม้า โดยเฉพาะไปเลย

ขยายความ :

อาชานีย = อาชาไนย” บางคำที่น่าสนใจ เช่น –

หตฺถาชานีย = ช้างอาชาไนย

อสฺสาชานีย = ม้าอาชาไนย

อุสภาชานีย = โคอุสภอาชาไนย

ปุริสาชานีย = บุรุษอาชาไนย

ในคัมภีร์ เช่นธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5 (ฉพฺพคฺคิยภิกฺขุวตฺถุ เรื่องที่ 107) เป็นต้น ขยายความไว้ว่า ช้าง-ม้า-โคอาชาไนย 3 จำพวกนี้มีอหังการสูงสุด มองไม่เห็นว่าจะมีสัตว์ชนิดไหนมาต่อกรกับตนได้ จึงไม่กลัวสัตว์ชนิดไหนทั้งสิ้น เมื่อสู้กันก็ยอมสู้จนตัวตาย

น่าคิดว่า สัตว์เดรัจฉานแท้ๆ เมื่อฝึกตามแบบแผนอย่างดีจนถึงที่สุดแล้วสามารถมีคุณสมบัติชั้นเลิศถึงขนาดไม่กลัวต่อความตาย

มนุษย์ที่จะมีคุณสมบัติถึงขั้นไม่กลัวตายมีแต่พระอรหันต์และบุคคลบางประเภทที่ฝึกจิตมาแล้วเป็นอย่างดีเท่านั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อันลิงค่างกลางป่าจับมาหัด

: สารพัดทำเป็นเคยเห็นไหม

: เกิดเป็นคนดีกว่าสัตว์ถนัดใจ

: ฝึกใจตนไม่ได้ก็อายลิง

#บาลีวันละคำ (2,821)

3-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย