ภาษาบาลีวันละคำ

บาลีวันละคำ

สาธุ (ภาษาบาลีวันละคำ 10)

สาธุ

เป็นคำที่พูดกันติดปากมากที่สุด
สอนลูกให้ไหว้พระตั้งแต่เด็ก “ธุพระซะลูก”

“ธุ” ก็คือ “สาธุ”

เห็นใครทำบุญทำกุศล ก็พูดว่า “โมทนา สาธุ”

เวลาพระสงฆ์ท่านประชุมกันแล้วขอความเห็นต่อที่ประชุมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าที่ประชุมเห็นชอบด้วย ก็จะเปล่งเสียงพร้อมกันว่า “สาธุ”

“สาธุ” แปลตามศัพท์ว่า “ยังประโยชน์ให้สำเร็จ”
มีความหมายว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นสำเร็จผลดีตามที่ต้องการแน่ๆ

แปลให้สั้นที่สุดว่า
“ดีแล้ว”
“ถูกต้องแล้ว”

Read More
บาลีวันละคำ

สพฺเพ สตฺตา (ภาษาบาลีวันละคำ 9)

สพฺเพ สตฺตา

เป็นคำที่คุ้นปากคนไทยอีกคำหนึ่ง ใช้ในคำแผ่เมตตา

“สพฺเพ” คำเดิมคือ สพฺพ (สับ-พะ) เป็นคุณศัพท์ แจกวิภัตติตามตัวประธาน (ในที่นี้คือ สตฺตา) จึงเป็น สพฺเพ

“สตฺตา” คำเดิมคือ สตฺต (สัด-ตะ) แจกวิภัตติเอกพจน์ เป็น สตฺโต พหูพจน์เป็น สตฺตา

สพฺเพ (สับ-เพ) แปลว่า ทั้งหมด ทั้งสิ้น ทั้งปวง
สตฺตา (สัด-ตา) แปลทับศัพท์ว่า สัตว์ทั้งหลาย

“สัตว์” ในภาษาไทย หมายถึงสัตว์เดรัจฉาน นอกจากมนุษย์
แต่ “สัตว์” ในภาษาบาลี หมายถึงสิ่งมีชีวิตทั้งมวล

“ห้ามฆ่าสัตว์” ไม่ใช่ห้ามฆ่าเฉพาะนกหนูปูปลา หรือสัตว์เดรัจฉาน แต่หมายถึงห้ามทำลายสรรพชีวิต ไม่ว่าคนหรือสัตว์

บาลีวันละคำ (9)

12 5 55

ข้อมูลเพิ่มเติม
—————–
คำแผ่เมตตาตามแบบที่ใช้ทั่วไปว่าดังนี้ –

สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

อเวรา โหนตุ จงเป็นสุข ๆ เถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

อพฺยาปชฺฌา โหนฺตุ อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

อนีฆา โหนฺตุ อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

สพฺพ = สรรพ, ทั้งปวง, ทั้งหมด (สมตฺต อขิล สกล นิสฺเสส อเสส ฯเปฯ) (ศัพท์วิเคราะห์)
– สรติ ปวตฺตตีติ สพฺพํ สิ่งที่เป็นไป
สรฺ ธาตุ ในความหมายว่าเป็นไป ว ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ, แปลง ร เป็น พ, ว เป็น พ
– สพฺพติ คจฺฉติ ปวตฺตตีติ สพฺพํ สิ่งที่เป็นไป
สพฺพ ธาตุ ในความหมายว่าเป็นไป อ ปัจจัย

Read More
บาลีวันละคำ

กุสลา ธมฺมา (ภาษาบาลีวันละคำ 8)

กุสลา ธมฺมา

เป็นคำที่ได้ยินกันคุ้นหูเวลาไปฟังสวดศพ
คำที่เป็นชุดกันก็คือ
กุสลา ธมฺมา, อกุสลา ธมฺมา, อพฺยากตา ธมฺมา.

กุสลา ธมฺมา (กุ-สะ-ลา ทำ-มา) แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นความดี เช่น การแบ่งปัน เมตตา ปัญญา
อกุสลา ธมฺมา (อะ-กุ-สะ-ลา ทำ-มา) แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นความชั่ว เช่น โลภ โกรธ หลง
อพฺยากตา ธมฺมา (อัพยา-กะ-ตา ทำ-มา) แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นกลางๆ (ไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง )

อย่าง Facebook นี่ ใช้ทำความดีก็ได้ เช่นบอกภาษาบาลีวันละคำ
ใช้ทำความชั่วก็ได้ เช่นเขียนด่ากัน
Facebook จึงเป็น อพฺยากตา ธมฺมา ไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง

บาลีวันละคำ (8)

11 5 55

ห้องพระ
10-7-55

Read More
บาลีวันละคำ

คนเดียว “มิ” หลายคน “มะ” (ภาษาบาลีวันละคำ 7)

คนเดียว “มิ” หลายคน “มะ”

“มิ” เป็นเอกพจน์ “มะ” เป็นพหูพจน์

สังเกต
ไหว้พระก่อนนอน (ไหว้คนเดียว)
อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา, พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ.

อาราธนาศีล (หลายคน)
มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.

“มิ” เหมือน I am …
“มะ” เหมือน We are …

บาลีวันละคำ (7)

10 5 55

ห้องพระ
3-7-55

Read More
บาลีวันละคำ

กจฺจิ ขมนียํ กจฺจิ ยาปนียํ (ภาษาบาลีวันละคำ 6)

กจฺจิ ขมนียํ
กจฺจิ ยาปนียํ

อ่านว่า
กัด-จิ-ขะ-มะ-นี-ยัง
กัด-จิ-ยา-ปะ-นี-ยัง

แปลว่า “สบายดีหรือ”

เป็นคำทักทายเมื่อพบกัน
พูดเฉพาะคำใดคำหนึ่งก็ได้ หรือจะพูดควบกันทั้งสองคำก็ได้
จะพูดเฉพาะ “ขมนียํ” หรือ “ยาปนียํ” เท่านี้ก็ได้

เมื่อถาม ออกเสียงสูงที่ท้ายคำ เป็น ขะมะนี-หยัง ยาปะนี-หยัง
เมื่อตอบ พูดเฉพาะ “ขมนียํ” “ยาปนียํ” ไม่ต้องขึ้นเสียงสูง

Read More