บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๕)

————————————

จะสอนให้คนมีความรู้แน่ๆ หรือเพียงแค่ให้ได้ใบรับรอง

การศึกษาของคณะสงฆ์หรือการศึกษาที่พระเป็นผู้จัดการ แรกเริ่มเดิมทีก็สอนเพื่อให้คนมีความรู้เป็นสำคัญ

ยังเคยได้ยินนักเรียนบาลีสมัยก่อนพูดกันว่า เรียนบาลีเอาบุญเอากุศล หมายถึงเรียนเอาความรู้เป็นประมาณ สอบได้หรือไม่ได้ไม่เป็นประมาณ

แม้เรียนนักธรรมก็คิดแบบเดียวกัน

แต่เมื่อเรียนกันไปเรียนกันมา กลายเป็นว่า-ตั้งเป้าหมายไว้ที่สอบได้

เกิดการคิดอ่านหากลวิธีที่จะช่วยให้สอบได้ เช่นเก็งข้อสอบ

คำที่วงการเรียนบาลีรู้จักกันดีคือ “ประโยคเก็ง”

ที่นิยมกันมากในปัจจุบันคือติวเข้ม หรือที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า “อบรมก่อนสอบ”

จุดประสงค์สำคัญก็คือ-เพื่อให้มีโอกาสสอบได้มากขึ้น

คำถามคือ ถูกต้องแล้วหรือที่เราเรียนพระปริยัติธรรมโดยตั้งเข็มไปที่-เพื่อสอบได้

แม้จะมีผู้แก้แทนให้ว่า ถึงจะตั้งเป้าไว้ที่การสอบได้ แต่เมื่อเรียนไปก็ต้องได้ความรู้ไปด้วยอยู่นั่นเอง

คำแก้นี้ก็เท่ากับยอมรับว่า สอบได้เป็นหลัก ความรู้เป็นรอง

ก็จะต้องถามซ้ำว่า การเรียนพระปริยัติธรรมโดยตั้งเป้าหมายเพื่อสอบได้เป็นหลัก ความรู้เป็นรอง เป็นการถูกต้องแล้วหรือ

นานมาแล้ว เคยมีนักการศึกษาสมัยใหม่ติงการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ว่า เรียนเอาความรู้นี่จะวัดผลให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร อย่างเรียนบาลีนี่สอบตกมากกว่าสอบได้ นี่มันเป็นการจัดการศึกษาแบบไหนกัน มันควรจะชี้วัดความสำเร็จด้วยตัวเลขหรืออะไรสักอย่างที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่วัดความรู้ที่เป็นนามธรรม

หลังจากนั้น ก็เกิดนิยมจัดการศึกษาเพื่อสอบได้กันมากขึ้น-โดยเฉพาะพระปริยัติธรรมสายนักธรรมและธรรมศึกษา

ที่ผมรู้เพราะเคยเข้าไปมีส่วนร่วมช่วยพระสงฆ์ที่เข้าไปเปิดการเรียนธรรมศึกษาในโรงเรียนต่างๆ จึงได้เห็นกลวิธีต่างๆ ที่จะช่วยให้นักเรียนสอบได้ โดยเฉพาะก็คือเทคนิคการทำข้อสอบ

ผลก็คือ มีนักเรียนสอบธรรมศึกษาได้เป็นจำนวนมาก บางทียกชั้นหรือแทบจะยกสนามกันเลย

โรงเรียนก็ได้หน้า พระที่เข้าไปจัดการศึกษาก็ได้ชื่อ

ชื่นชมยินดีกันที่จำนวนผู้สอบได้

วัดความสำเร็จกันที่จำนวนผู้สอบได้

ผมเคยทดสอบ นักเรียนที่สอบธรรมศึกษาชั้นตรีได้ – ขอให้อธิบายธรรมะบางข้อในหลักสูตรให้ฟัง

ใบ้รับประทานเป็นแถวขอรับ

พระเถระรูปหนึ่งท่านรับผิดชอบการอบรมบาลีก่อนสอบ มาปรับทุกข์กับผมว่า-เดี๋ยวนี้มันเป็นยังไงกัน มหาประโยค ๕ ถามหลักไวยากรณ์ ตอบไม่รู้เรื่องเลย

ทำให้นึกถึงสหายธรรมรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ลูกบ้านปากท่อด้วยกัน เข้าไปเรียนบาลีในกรุง สอบประโยค ๓ ได้ แล้วเรียนประโยค ๔ ต่อ

เฉพาะวิชาแปลไทยเป็นมคธ หรือที่เรียกกันในหมู่นักเรียนบาลีว่า “วิชากลับ” ซึ่งใช้คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ เป็นแบบเรียนออกข้อสอบ เพื่อนใช้วิธีท่องจำหมดทั้งเล่ม

ผลปรากฏว่าสอบประโยค ๔ ได้สมใจนึก

แต่เพื่อนก็มาสารภาพเองว่า อย่ามาถามเรื่องแต่งบาลี ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น สอบได้เพราะท่องเอา

ถ้าจัดการศึกษาเพียงเพื่อให้สอบได้ ผลผลิตของเราก็จะเป็นแบบนี้

จึงต้องถามซ้ำว่า จะสอนให้คนมีความรู้แน่ๆ หรือเพียงแค่ให้ได้ใบรับรอง

————————

เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๒ ราชกิจจานุเบกษาลงประกาศพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พุทธศักราช ๒๕๖๒

สิ่งที่แปลกใหม่ใน พรบ. ฉบับนี้ก็คือต่อไปนี้การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมจะมีงบประมาณจากรัฐบาลสนับสนุน

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ ที่เป็นมา ครูสอนนักธรรม-บาลีของสำนักเรียนวัดต่างๆ สอนเอาบุญ ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ นอกเสียจากหลวงพ่อใจดี ควักย่ามให้ตามอัธยาศัย วัดใครวัดมัน

แต่ต่อไปนี้ไม่ใช่สอนฟรี รัฐบาลจะถวายค่าตอบแทน-ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีตำแหน่งต่างๆ ในสำนักเรียนแบบเดียวกับสถานศึกษาทั่วไป ไม่ใช่ทำกันแบบวัดๆ อย่างที่เป็นมา

เมื่อวานนี้ (๒๗ เมษายน ๒๕๖๒) เป็นวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ ตอนบ่ายผมไปเปิดวงสนทนาธรรมกับคณะผู้รักษาอุโบสถศีลของวัดมหาธาตุ ราชบุรี อันเป็นกิจวัตรประจำวันพระเช่นเคย และได้นำเรื่อง พรบ. การศึกษาพระปริยัติธรรมฉบับนี้ไปเล่าสู่กันฟัง

วงสนทนามีข้ออภิปรายว่า

ข้อ ๑ พรบ.ฉบับนี้มีความตั้งใจที่จะผลิตชาวพุทธที่มีความรู้หลักพระธรรมวินัย หรือว่าเพียงแค่จัดระเบียบวิธีทำให้คนจำนวนหนึ่งได้ใบรับรองคุณวุฒิ-เหมือนกับที่ทำมาแล้วและกำลังทำอยู่

ข้อ ๒ หลักของเราคือ ปริยัติเพื่อปฏิบัติ และปฏิบัติเพื่อปฏิเวธ ที่เราจัดการการศึกษาพระปริยัติธรรมกันอยู่ทุกวันนี้เป็นปริยัติเพื่อปฏิบัติ หรือปริยัติเพื่อใบรับรองคุณวุฒิกันแน่

ข้อ ๓ เมื่อสอบได้ตามหลักสูตรแล้วเราก็เลิกเรียน ส่วนมากไม่ได้ปฏิบัติอะไร เลิกเรียนแล้วก็อยู่เฉยๆ ตำราที่ใช้เรียนก็แทบจะไม่อ่านอีก เพราะถือว่าสอบได้แล้ว คัมภีร์ที่สูงขึ้นไปก็ไม่ได้ศึกษา ยิ่งพระไตรปิฎกหรือพระคัมภีร์ด้วยแล้วแทบจะไม่รู้จักด้วยซ้ำ

เป็นอันว่า ปริยัติเพื่อปฏิบัติก็ไม่ใช่ (พอพูดว่า “ปฏิบัติ” ก็จะมีผู้ยกข้ออ้างว่า-ต้องเป็นไปตามอัธยาศัย)

ปริยัติเพื่อปริยัติที่สูงๆ ขึ้นไป กว้างขวางต่อไป ก็ไม่ใช่อีก

และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ เมื่อถึงระยะหนึ่งก็จะเป็นอย่างที่นักเรียนทางโลกๆ เขาพูดกัน นั่นคือ-ความรู้คืนให้ครูหมดแล้ว เหลือแต่ใบรับรองว่าสอบได้ชั้นนั้นชั้นนี้ แต่หลักความรู้ไม่เหลือ

เวลานี้เราส่วนมากเป็นกันอย่างนี้ใช่หรือไม่?

ข้อ ๔ เวลานี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ของเราทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตออกสู่สังคมเหมือน ม.ทั่วไป

คำถามคือ ผลผลิตของ ม.สงฆ์ จะสามารถทำหน้าที่รักษาพระศาสนาได้มากน้อยแค่ไหน

ในจำนวนชาวพุทธ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ระหว่างผลผลิตของ ม.สงฆ์กับชาวพุทธระดับรากหญ้า เราควรจะฝากพระศาสนาไว้กับกลุ่มไหน

ข้อ ๕ ชาวพุทธระดับรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ส่วนมากขาดความรู้ในหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง และยังคงถูกปล่อยให้อยู่เฉยๆ โดยไม่มีใครที่ไหนไปจัดการศึกษาให้อย่างเป็นหลักเป็นฐานมุ่งมั่นจริงจัง

ถามว่า ผู้บริหารการพระศาสนาของเรามีความคิดที่จะจัดการศึกษาอะไรให้คนกลุ่มนี้บ้างหรือไม่

ผู้จะเป็นกำลังของพระศาสนาก็คือชาวพุทธระดับรากหญ้าดังกล่าวนี้ แต่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่เราไม่เคยวางแผนการศึกษาเพื่อคนกลุ่มนี้อย่างเป็นหลักเป็นฐานกันเลย

……………..

ชาวบ้านที่มาทำบุญวันพระที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี เปิดวงสนทนาธรรมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางพระธรรมวินัย ๓ คน ๕ คน ตามมีตามเกิด ตามบุญตามกรรม

วัดอีกสามหมื่น-สี่หมื่นวัด ทำอย่างนี้ด้วยหรือไม่

เปล่า

ชาวพุทธระดับรากหญ้าอีกเป็นสิบๆ ล้านที่ไม่สะดวกจะมาเข้าร่วมวงสนทนา ใครจะมีวิธีนำความรู้ทางพระธรรมวินัยไปป้อนให้พวกเขาอย่างไรได้บ้าง?

ไม่รู้ (อย่าถาม รำคาญว่ะ)

————————

จะจัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตสู่สังคม หรือเพื่อให้ได้ใบรับรอง ก็ทำกันต่อไปเถิด ขออนุโมทนา

แต่ขอให้คิดอ่านจัดการศึกษาให้แก่ชาวพุทธระดับรากหญ้าให้มีคุณภาพเพื่อการรักษาพระศาสนา เพิ่มขึ้นอีกสักอย่างหนึ่ง อย่างเป็นหลักเป็นฐาน มุ่งมั่น จริงจัง

จะออกพระราชบัญญัติเพื่อการนี้อีกกี่ฉบับ ก็ออกมาเลย

ถ้าไม่รีบเตรียมชาวพุทธให้มีคุณภาพเพื่อการรักษาพระศาสนาไว้ตั้งแต่วันนี้

วันหน้า แผ่นดินไทยก็ยังคงมีศาสนา

แต่จะไม่ใช่พระพุทธศาสนา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ เมษายน ๒๕๖๒

๑๖:๒๐

————-

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0011.PDF

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *