ประชาธิปไตย (บาลีวันละคำ 118)
ประชาธิปไตย
(คำไทย)
“ประชาธิปไตย” ประกอบด้วยคำว่า ประชา + อธิปไตย
เป็นการเขียนอิงรูปคำสันสกฤตผสมบาลี คือ ปฺรชา + อาธิปเตยฺย
“ปฺรชา” เป็นภาษาสันสกฤต บาลีเป็น “ปชา” แปลว่า หมู่คน, ปวงชน
“อาธิปเตยฺย” เป็นภาษาบาลี ประกอบขึ้นจากคำว่า อธิ (ยิ่งใหญ่, ทีฆะ อะ เป็น อา = อาธิ) + ปติ (เจ้าของ, เจ้านาย) + ณฺย (ปัจจัย แปลว่า การ-, ความ-)
– ปติ + ณฺย = ปเตยฺย
– อาธิ + ปเตยฺย = อาธิปเตยฺย
– ปชา + อาธิปเตยฺย = ปชาธิปเตยฺย (อ่านว่า ปะ-ชา-ทิ-ปะ-เต็ย-ยะ) = ปฺรชาธิปเตยฺย = ประชาธิปไตย แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นเจ้าของผู้ยิ่งใหญ่ของปวงชน” = การที่ปวงชนเป็นเจ้าของผู้ยิ่งใหญ่
คำนี้เป็นศัพท์บัญญัติจากภาษาอังกฤษว่า democracy
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายไว้ว่า “ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่, การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่”
ในภาษาบาลีไม่มีศัพท์ว่า “ปชาธิปเตยฺย” แต่มีคำว่า “อาธิปเตยฺย” เขียนแบบไทยว่า “อธิปไตย” แปลว่า “ความเป็นใหญ่” จำแนกเป็น 3 อย่าง คือ
1 อัตตาธิปไตย = ความมีตนเป็นใหญ่ คือ จะทำอะไรก็นึกถึงตน คำนึงถึงฐานะเกียรติศักดิ์ศรี หรือผลประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ
2 โลกาธิปไตย = ความมีโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมหรือเสียงกล่าวว่าของชาวโลกเป็นสำคัญ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทาและสรรเสริญ จะทำอะไรก็มุ่งจะเอาใจหมู่ชน หาความนิยม ทำตามที่เขานิยมกัน หรือคอยแต่หวั่นกลัวเสียงกล่าวว่า
3 ธัมมาธิปไตย = ความมีธรรมเป็นใหญ่ คือ ถือธรรมเป็นใหญ่ นึกถึงความจริง ความถูกต้องสมควรก่อนแล้วจึงทำ
ลองคิดกันดู : ประชาธิปไตย มีความหมายตรงกับอธิปไตยข้อไหน ?
บาลีวันละคำ (118)
3-9-55
อธิปไตย
[อะทิปะไต, อะทิบปะไต] น. อํานาจสูงสุดของรัฐที่จะใช้บังคับบัญชาภายในอาณาเขตของตน. (ป. อธิปเตยฺย ว่า ความเป็นใหญ่ยิ่ง). (อ. sovereignty).
ประชาธิปไตย
[ปฺระชาทิปะไต, ปฺระชาทิบปะไต] น. ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่, การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่. (ส. ปฺรชา + ป. อธิปเตยฺย).
ประชาธิปไตย เป็นศัพท์บัญญัติจากภาษาอังกฤษว่า democracy
อธิปไตย
ความเป็นใหญ่มี ๓ อย่าง คือ
๑. อัตตาธิปไตย ความมีตนเป็นใหญ่
๒. โลกาธิปไตย ความมีโลกเป็นใหญ่
๓. ธัมมาธิปไตย ความมีธรรมเป็นใหญ่
(ประมวลศัพท์)
๑. อัตตาธิปไตย ความมีตนเป็นใหญ่
ความถือตนเป็นใหญ่ จะทำอะไรก็นึกถึงตน คำนึงถึงฐานะเกียรติศักดิ์ศรี หรือผลประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ, พึงใช้แต่ในขอบเขตที่เป็นความดี คือ เว้นชั่วทำดีด้วยเคารพตน (ข้อ ๑ ในอธิปไตย ๓)
๒. โลกาธิปไตย ความมีโลกเป็นใหญ่
ความถือโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมหรือเสียงกล่าวว่าของชาวโลกเป็นสำคัญ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทาและสรรเสริญ จะทำอะไรก็มุ่งจะเอาใจหมู่ชน หาความนิยม ทำตามที่เขานิยมกัน หรือคอยแต่หวั่นกลัวเสียงกล่าวว่า, พึงใช้แต่ในทางดีหรือในขอบเขตที่เป็นความดี คือ เคารพเสียงหมู่ชน (ข้อ ๒ ในอธิปไตย ๓)
๓. ธัมมาธิปไตย ความมีธรรมเป็นใหญ่
ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ นึกถึงความจริง ความถูกต้องสมควรก่อนแล้วจึงทำ บัดนี้นิยมเขียน ธรรมาธิปไตย; ดู อธิปเตยยะ
(ประมวลศัพท์)