บาลีวันละคำ

ปูชนียบูชา (บาลีวันละคำ 3,281)

ปูชนียบูชา

บูชาคนที่ควรบูชา

คำในพระสูตร: ปูชา ปูชนียานํ (ปู-ชา จะ ปู-ชะ-นี-ยา-นัง)

ปูชนียบูชา” อ่านว่า ปู-ชะ-นี-ยะ-บู-ชา แยกศัพท์เป็น ปูชนีย + บูชา

(๑) “ปูชนีย

บาลีอ่านว่า ปู-ชะ-นี-ยะ รากศัพท์มาจาก ปูชน + อีย ปัจจัย

(ก) “ปูชน” (ปู-ชะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ปูชฺ (ธาตุ = บูชา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: ปูชฺ + ยุ > อน = ปูชน แปลตามศัพท์ว่า “การบูชา” มีความหมายเช่นเดียวกับ “ปูชา” (ดูข้างหน้า)

ในภาษาไทย เราใช้ “ปูชา” เป็น “บูชา” แต่ไม่ได้ใช้ “ปูชน

(ข) ปูชน + อีย = ปูชนีย แปลตามหลักการตั้งรูปวิเคราะห์ (รูปวิเคราะห์: การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ว่า “ชนใดย่อมควรซึ่งการบูชา เหตุนั้น ชนนั้นชื่อ ปูชนีย = ผู้ควรซึ่งการบูชา

ปูชนีย” (คุณศัพท์) หมายถึง พึงบูชา, ควรยกย่อง, ควรนับถือ (to be honoured, entitled to homage) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปูชนีย-, ปูชนียะ : (คำวิเศษณ์) น่านับถือ, น่าบูชา, เช่น ปูชนียวัตถุ ปูชนียบุคคล. (ป.).”

ข้อสังเกต :

บาลี “ปูชนีย” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “บูชนีย-” ซึ่งก็คือแปลงมาจาก “ปูชนีย” บอกไว้ดังนี้ –

บูชนีย– : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) ควรบูชา. (ป., ส. ปูชนีย).”

ขีด – หลังคำ หมายความว่า คำนี้ไม่ใช้เดี่ยวๆ จะต้องมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย

“คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตัดคำว่า “บูชนีย-” ออก แต่เก็บเป็น “บูชนียะ” บอกไว้ว่า –

บูชนียะ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) ปูชนียะ. (ป., ส. ปูชนีย).”

หมายความว่า “บูชนีย-” มีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายนั้นไม่มีใช้ ถ้าจะใช้ บูชนี– ก็ต้องเป็น “บูชนียะ” เต็มคำ และพจนานุกรมฯ ก็ไม่ได้บอกความหมายของ “บูชนียะ” แต่บอกว่า “บูชนียะ” ก็คือ “ปูชนียะ” 

เป็นอันว่า บาลี “ปูชนีย” ในภาษาไทยถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย คงใช้เป็น ปู– ตามคำเดิม ไม่ต้องแปลง ปู– เป็น บู

(๒) “บูชา” 

บาลีเป็น “ปูชา” (ไทย บู– บ ใบไม้ บาลี ปู– ป ปลา) อ่านว่า ปู-ชา รากศัพท์มาจาก ปูชฺ (ธาตุ = บูชา) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: ปูชฺ + = ปูช + อา = ปูชา แปลตามศัพท์ว่า “การบูชา” หมายถึง การบูชา, การนับถือ, การแสดงความภักดี (honour, worship, devotional attention) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

บูชา : (คำกริยา) แสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น เช่น บูชาพระ บูชาเทวดา บูชาไฟ, ยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใสในความรู้ความสามารถ เช่น บูชาวีรบุรุษ บูชาความรู้ บูชาฝีมือ; ซื้อพระพุทธรูป วัตถุมงคล หรือสิ่งที่ถือว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูปองค์นี้บูชามาเท่าไร, เช่า ก็ใช้. (ป., ส. ปูชา).”

โปรดสังเกตว่า ในภาษาบาลี “ปูชา” เป็นคำนาม แต่ในภาษาไทย “บูชา” เป็นคำกริยา

ปูชนีย + ปูชา = ปูชนียปูชา > ปูชนียบูชา แปลว่า “การบูชาผู้ควรแก่การบูชา” 

ขยายความ :

มงคลข้อที่ 3 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “ปูชา ปูชนียานํ” (ปู-ชา จะ ปู-ชะ-นี-ยา-นัง) แปลตามศัพท์ว่า “บูชาคนที่ควรบูชา

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

3. ปูชา ปูชนียานํ (บูชาคนที่ควรบูชา — Pūjaneyyapūjā: to honour those who are worthy of honour)

…………..

ข้อสังเกต :

มงคลสูตรในพระไตรปิฎกมีมา 2 แห่ง คือ คัมภีร์ขุทกปาฐะ ขุทกนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 5-6 และคัมภีร์สุตตนิบาต ขุทกนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 317-318

(๑) คำบาลีว่า “ปูชนียานํ” นี้ คำบาลีในพระไตรปิฎกทั้ง 2 แห่งเป็น “ปูชนียานํ” ตรงกัน แต่ในคัมภีร์อรรถกถาและที่ท่านนำมาแสดงไว้ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนีคำนี้เป็น “ปูชเนยฺยานํ” และพึงสังเกตว่า พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ส่วนที่ภาษาอังกฤษ อักษรโรมันที่เขียนคำบาลีเป็น Pūjaneyyapūjā อ่านว่า ปูชเนยฺยปูชา ก็คือเป็น “ปูชเนยฺย-” ตรงกันกับ “ปูชเนยฺยานํ” ตามอรรถกถา

ปูชนียานํ” กับ “ปูชเนยฺยานํ” ต่างกันเพียงพยัญชนะเท่านั้น คือคำหนึ่งลง อีย ปัจจัย คำหนึ่งลง เอยฺย ปัจจัย แต่ความหมายเหมือนกัน

(๒) ในแง่คำแปล คำว่า “ปูชนีย” แม้ท่านจะแปลว่า “คนที่ควรบูชา” แต่ในความหมายโดยรวมแล้วพึงเข้าใจว่า ไม่ใช่ “คน” อย่างเดียว แม้วัตถุ สถานที่ ตลอดจนประเพณีธรรมเนียมใดๆ ที่มีคุณค่าดีงาม ก็รวมอยู่ในคำว่า “ปูชนีย” ด้วยทั้งสิ้น

(๓) ในแง่ความหมายเชิงปฏิบัติ ผู้รู้จำแนกการบูชาไว้ 3 อย่าง คือ –

1 “สักการบูชา” (สัก-กา-ระ-) = บูชาด้วยเครื่องสักการะ > สนับสนุนด้วยวัตถุสิ่งของ เงินทอง ทรัพยากรต่างๆ

2 “สัมมานบูชา” (สำ-มา-นะ-, บางทีเสริมคำให้สูงขึ้นไปว่า “อภิสัมมานบูชา”) = บูชาด้วยการนับถือ > สนับสนุนด้วยการเชื่อถือ ปฏิบัติตาม แสดงความเห็นด้วย ให้ความร่วมมือ (บอกให้ทำอะไรก็ทำ)

3 “ปัคคาหบูชา” (ปัก-คา-หะ-) = บูชาด้วยการยกย่อง > สนับสนุนด้วยการแสดงความนิยมชมชอบ เทิดทูน ปกป้อง ส่งเสริม

…………..

คัมภีร์มังคลัตถทีปนีสรุปไว้ว่า –

…………..

ปูชเนยฺยปูชา  จ  นิพฺพานสุคติเหตุตฺตา  มงฺคลนฺติ  วุตฺตํ. 

และการบูชาคนที่ควรบูชาชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุ (อย่างสูงสุด) คือบรรลุพระนิพพาน และ (อย่างต่ำสุด) คือเข้าถึงสุคติภพ

…………..

ดูก่อนภราดา!

กับบัณฑิต : หากไม่ยกย่อง ก็อย่าเหยียบย่ำ

กับคนพาล : หากไม่เมตตา ก็อย่าซ้ำเติม

—————–

ตามไปอ่านบาลีวันละคำทั้งหมดได้ที่ลิงก์นี้:

#บาลีวันละคำ (3,281) (ชุดมงคล 38)

6-6-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *