กัมมะปะฏิสะระณา (บาลีวันละคำ 3,375)
กัมมะปะฏิสะระณา (ชุดพรหมวิหารภาวนา)
“ผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย”
“กัมมะปะฏิสะระณา” เขียนแบบบาลีเป็น “กมฺมปฏิสรณา” อ่านว่า กำ-มะ-ปะ-ติ-สะ-ระ-นา
“กมฺมปฏิสรณา” รูปคำเดิมเป็น “กมฺมปฏิสรณ” อ่านว่า กำ-มะ-ปะ-ติ-สะ-ระ-นะ ประกอบด้วยคำว่า กมฺม + ปฏิสรณ
(๑) “กมฺม”
อ่านว่า กำ-มะ สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
ในที่นี้เขียน “กัมม” ตามรูปบาลี
“กัมม” ในแง่ภาษา –
1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)
2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม
3- กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ”
“กัมม” ในแง่ความหมาย –
1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม
2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม
3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม
4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม
“กัมม” ในแง่ความเข้าใจ –
1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น”
2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)
3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น
(๒) “ปฏิสรณ”
อ่านว่า ปะ-ติ-สะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ + สรณ
(ก) “ปฏิ” – ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ปฏิ-” :
“ปฏิ-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค”
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ปฏิ : เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิ– : คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปฏิ-” ว่า back (to), against, towards, in opposition to, opposite (กลับ, ตอบ, เฉพาะ, มุ่งไปยัง, ตรงกันข้าม, กลับกัน)
(ข) “สรณ”
อ่านว่า สะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน; คิดถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: สรฺ + ยุ > อน = สรน > สรณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยเฉพาะแห่งมรรคสี่” (2) “การเบียดเบียน” (3) “ที่เป็นที่นึกถึงการกระทำที่ดีและไม่ดี”
“สรณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) ที่กำบัง, บ้าน (shelter, house)
(2) ที่พึ่ง, สรณะ (refuge, protection)
(3) การระลึกถึง (remembrance; remembering)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สรณ-, สรณะ : (คำนาม) ที่พึ่ง, ที่ระลึก; ความระลึก. (ป.; ส. ศรณ).”
ปฏิ + สรณ = ปฏิสรณ (ปะ-ติ-สะ-ระ-นะ) แปลว่า “ที่พึ่งโดยเฉพาะ” คือ เป็นที่พึ่งเฉพาะตัว ของใครของมัน ไม่ใช่ที่พึ่งอันเป็นสาธารณะแก่ใครอื่นทั่วไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิสรณ” เท่ากับ “สรณ” คือ refuge in, shelter, help, protection (ที่พึ่ง, ที่พักอาศัย, สรณะ, การป้องกัน)
กมฺม + ปฏิสรณ = กมฺมปฏิสรณ (กำ-มะ-ปะ-ติ-สะ-ระ-นะ) แปลว่า “ผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กมฺมปฏิสรณ” ว่า having kamma as a place of refuge or as a protector (มีกรรมเป็นที่พึ่งหรือเป็นเครื่องป้องกัน)
…………..
“กมฺมปฏิสรณ” เป็นคำที่ทำหน้าที่ขยายคำว่า “สตฺตา” (ในคำว่า “สพฺเพ สตฺตา”) จึงต้องประกอบลิงค์ วจนะ วิภัตติ ตามคำที่ตนขยาย “กมฺมปฏิสรณ” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “กมฺมปฏิสรณา”
“กมฺมปฏิสรณา” เขียนแบบคำอ่านเป็น “กัมมะปะฏิสะระณา”
ขยายความ :
“กัมมะปะฏิสะระณา” เป็นคำที่ใช้ในคำแผ่พรหมวิหารภาวนาในส่วนที่เรียกว่า “แผ่อุเบกขา”
คำ “แผ่อุเบกขา” มีคำบาลีที่กำหนดไว้ดังนี้ –
…………..
สพฺเพ สตฺตา
กมฺมสฺสกา
กมฺมทายาทา
กมฺมโยนี
กมฺมพนฺธู
กมฺมปฏิสรณา
ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ
กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา
ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ.
…………..
เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ –
…………..
สัพเพ สัตตา
กัมมัสสะกา
กัมมะทายาทา
กัมมะโยนี
กัมมะพันธู
กัมมะปะฏิสะระณา
ยัง กัมมัง กะริสสันติ
กัล๎ยาณัง วา ปาปะกัง วา
ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ.
…………..
คำบาลีสลับคำแปลที่นิยมแปลกันเป็นดังนี้ –
……………
สัพเพ สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
กัมมัสสะกา = เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน
กัมมะทายาทา = เป็นผู้รับผลของกรรม
กัมมะโยนี = เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กัมมะพันธู = เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กัมมะปะฏิสะระณา = เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ยัง กัมมัง กะริสสันติ = จักทำกรรมอันใดไว้
กัล๎ยาณัง วา ปาปะกัง วา = ดีหรือชั่ว
ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ. = จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น.
…………..
อภิปราย:
เรานิยมบอกกล่าวแนะนำกันให้ “แผ่เมตตา” มีคำกล่าวแผ่เมตตาเป็นที่รู้กันทั่วไป แต่การแผ่มุทิตาเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึง ไม่มีใครนำมาเสนอแนะ ทั้งๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในพรหมวิหารภาวนาเช่นเดียวกับแผ่เมตตานั่นเอง
แผ่เมตตา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข
แผ่กรุณา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบปัญหา
แผ่มุทิตา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบความสำเร็จ
แผ่อุเบกขา ใช้เมื่อไม่อยู่ในวิสัยที่จะแผ่เมตตา แผ่กรุณา หรือแผ่มุทิตาได้
ตัวอย่างเช่น เห็นนักโทษถูกตัดสินประหารชีวิต กรณีเช่นนี้จะแผ่เมตตาก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข แผ่กรุณาก็ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะช่วยอะไรเขาได้ แผ่มุทิตาเป็นอันไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่ใช่โอกาสอันควรจะยินดีกับเขา
ถ้าไม่มีหลักหรือไม่มีวิธีคิดที่ถูกต้อง เราก็จะเป็นทุกข์ วุ่นวายใจไปด้วยประการต่างๆ กรณีเช่นนี้แหละที่ท่านแนะให้แผ่อุเบกขา
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อุเบกขา” ไว้ดังนี้ –
…………..
(1) ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง (ข้อ 4 ในพรหมวิหาร 4)
(2) ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่า อุเบกขาเวทนา ( = อทุกขมสุข); (ข้อ 3 ในเวทนา 3)
…………..
ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ แทนที่จะแผ่เมตตาอย่างเดียว หรือแนะนำสั่งสอนกันให้แผ่แต่เมตตา ก็ควรสนใจที่จะแผ่กรุณา แผ่มุทิตา และแผ่อุเบกขาให้แก่กันด้วย และช่วยกันทำให้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็อย่าให้น้อยไปกว่าที่แผ่เมตตา
…………..
ดูเพิ่มเติม:
“สัพเพ สัตตา” บาลีวันละคำ (2,859) 10-4-63
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พึ่งตนคือพึ่งธรรม
คือพึ่งกรรมที่ทำตน
: ชั่วดีย่อมมีผล
สุขทุกข์ทนเพราะตนทำ
#บาลีวันละคำ (3,375) (ชุดพรหมวิหารภาวนา)
8-9-64