บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๑)

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๖) ตอน -๕-

————————————

มองพระศาสนาให้ตรง ลงมือทำให้ถูก

——————-

-๕-

——————-

ระดับจุลภาค เป็นการปฏิบัติเป็นส่วนตัวในกรณีที่คณะสงฆ์ไม่คิด ไม่สั่ง ไม่สนใจที่จะทำ (ซึ่งคาดหมายได้เลยว่าคงเป็นเช่นนั้น) 

คุณสมบัติที่จำเป็นข้อแรกของการทำงานในระดับจุลภาคก็คือ ต้องเป็นคนมีอุดมคติ 

ไม่มีใครสั่ง และไม่รอให้ใครสั่ง แต่ใจรักที่จะทำ 

ถ้าเป็นเจ้าอาวาสก็คล่องตัวหน่อย และทำได้เต็มที่ แต่ถ้าไม่ใช่เจ้าอาวาส และถ้าเจ้าอาวาสไม่เล่นด้วย ก็ทำได้ยาก ถ้าไม่มีอุดมคติจริงคงเลิกล้มความคิดที่จะทำ 

และเท่าที่สังเกต เจ้าอาวาสส่วนมาก (วัดประมาณสามหมื่น-สี่หมื่นวัด) ไม่มีอุดมคติที่จะทำงานแบบนี้ 

รวมทั้งพระภิกษุสามเณรที่มีอยู่ในวัดต่างๆ ส่วนมากไม่มีความคิดที่จะศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยให้แตกฉาน แล้วนำไปเผยแผ่ให้ชาววัดด้วยกันตลอดจนชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจด้วย 

ส่วนมากไม่เคยคิดว่า-นี่คืองานที่จะต้องทำสำหรับผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา

นี่คือจุดอ่อนในวงการพระพุทธศาสนาบ้านเรา 

ทั้งๆ ที่เรารู้กันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลว่า ผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามีงานที่จะต้องทำ ๒ อย่างเท่านั้น คือ – 

๑ ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย แล้วสั่งสอนบอกกล่าวเผยแผ่ 

๒ ปฏิบัติธรรมคือเจริญพระกรรมฐานเพื่อบรรลุมรรคผลตามวิสัยสามารถ

ปัจจุบันปรากฏว่าผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแทบจะไม่ได้ทำงาน ๒ อย่างนี้ แต่ใช้เวลาหมดไปกับเรื่องอื่น 

เมื่อใช้เวลาหมดไปกับเรื่องอื่นนานเข้า ก็เกิดเป็นความเข้าใจไขว้เขวว่า บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้วไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ก็ไม่มีใครว่าอะไร ไม่ต้องปฏิบัติธรรม ก็ไม่มีใครว่าอะไร 

ในที่สุดก็เข้าใจไปว่า การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรมไม่ใช่หน้าที่ของผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา 

ใครไปบอกให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรม ก็จะถูกมองหน้าแล้วถามกลับเอาว่า ทำไมฉันจะต้องทำอย่างนั้นด้วย ใครเป็นคนกำหนดว่านั่นเป็นหน้าที่ของฉัน ฉันมีสิทธิ์ที่จะบวช ฉันมีสิทธิ์ที่จะอยู่เฉยๆ สบายๆ แต่ไม่ใช่หน้าที่ที่ฉันจะต้องทำอะไรตามที่คุณบอก คุณไปทำหน้าที่ของคุณให้ดีก่อนเถิดจึงค่อยมาบอกให้คนอื่นทำนั่นทำนี่ 

โปรดทราบเถิดว่า เวลานี้เรากำลังมาอยู่ ณ จุดนี้กันแล้ว 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒

๑๒:๔๒ 

—————

(อ่านต่อตอน -๖-)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *