บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๑)

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๓)

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๓)

————————————

ศึกษาพระธรรมวินัยแบบวัดๆ 

วัดพระพุทธศาสนาในเมืองไทยมีประมาณสามหมื่น-สี่หมื่นวัด สร้างขึ้นด้วยศรัทธาของชาวบ้านล้วนๆ ทางราชการบ้านเมืองแทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย 

วัดเหล่านี้ประกอบด้วยอาคารสถานที่ มีถาวรวัตถุ มีอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมสรรพ เหมาะสำหรับเป็นฐานปฏิบัติการเพื่อการศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนาได้เป็นอย่างดียิ่ง

แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัดประมาณสามหมื่น-สี่หมื่นวัดเหล่านี้แทบจะไม่ได้มีกิจกรรมประจำวันอะไรเลยที่เป็นไปเพื่อการเพื่อการศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเข้มข้นจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยู่รอบๆ วัด หรือแม้กระทั่งสำหรับคนที่อยู่ภายในวัดนั้นเองด้วยซ้ำไป

เมื่อประมาณครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ภาพของวัดในฐานะเป็นศูนย์กลางการศึกษาของพระภิกษุสามเณร พร้อมไปกับเป็นศูนย์รวมของชุมชนยังแจ่มชัดอยู่ในห้วงนึกของคนทั่วไป 

คนสมัยก่อนเห็นพระต่างวัดที่ตนไม่รู้จัก จะถามคำถามแรกว่า “พระวัดไหน” 

พระกับวัดที่สังกัดจะถูกมองในฐานะเป็นของคู่กัน วัดเป็นเครื่องรับรองฐานะของพระแต่ละรูป 

แต่ละวัดจะมีจุดเด่นในการศึกษาอบรมมากน้อยแตกต่างกันออกไป 

ทุกวันนี้ความหมายของวัดแทบว่าจะเหลืออยู่อย่างเดียว คือเป็นเพียงที่พักของพระเณร 

ปัจจุบันนี้มีพระจำนวนไม่น้อยที่-เช้าก็ออกจากวัดไปทำกิจที่อื่น เย็นก็กลับวัด ทำนองเดียวกับชาวบ้านที่-เช้าออกจากบ้านไปทำงาน เย็นก็กลับบ้าน

พระสมัยใหม่จึงแทบจะไม่ได้เห็นความสำคัญของการที่จะระบุชื่อวัดที่ท่านสังกัดควบคู่ไปกับชื่อของท่าน 

พร้อมๆ กันไปนั่นเองก็กลับให้ความสำคัญกับสถาบันที่ท่านไปทำกิจกรรมอยู่ และให้ความสำคัญกับตำแหน่งงานที่ทำมากกว่า 

ดังจะเห็นได้ว่า เดี๋ยวนี้เรารู้จักกันว่าพระรูปนั้นมีตำแหน่งหน้าที่อะไรที่ไหน แต่แทบจะไม่รู้และไม่สนใจที่จะรู้เลยว่าท่านอยู่วัดไหน 

นี่ก็เท่ากับว่า พระนั่นเองที่ช่วยกันทำวัด-ในฐานะเป็นศูนย์กลางการศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัย-ให้หมดความสำคัญลงไป และให้มีความหมายเพียงแค่-เป็นที่พักนอนแต่ละคืนเท่านั้น 

——————-

แนวความคิดของผมคือ-คืนความเป็นศูนย์กลางการศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยให้แก่วัด หรือฟื้นฟูวัดให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยดังที่เคยเป็นมาในอดีต 

ในทางกายภาพ ไม่มีอะไรต้องห่วง เรามีพร้อมอยู่แล้ว

พูดกันตรงๆ เรามีทรัพยากรพร้อมมูล 

ขาดแต่การบริหารจัดการ 

หรือจะให้พูดตรงกว่านี้ก็คือ – เรามีพร้อมทุกอย่าง แต่ไม่มีความคิด 

คำว่า “ไม่มีความคิด” นี้ฟังได้ว่าเป็นคำตำหนิอย่างหนึ่ง 

ถูกใครพูดถึงเราว่า “คุณนี่ช่างไม่มีความคิดเอาเสียเลย” จะรู้สึกเจ็บปวดอย่างยิ่ง 

“ไม่มีความคิด” ในที่นี้ไม่ได้มีเจตนาจะตำหนิตามที่ควรจะเข้าใจเช่นนั้น แต่มีเจตนาจะบอกว่า ระบบที่เราใช้กันอยู่เป็นระบบที่ไม่เอื้ออำนวยให้คนเกิดความคิดที่จะทำอะไรในทางพัฒนาสร้างสรรค์ 

แต่เอื้ออำนวยให้คนพอใจที่จะคอยทำตามคำสั่งเท่านั้น 

เรื่องที่ควรเข้าใจให้ตรงกันและยอมรับความจริงก็คือ ระบบการปกครองในคณะสงฆ์เป็นระบบสั่งการจากข้างบนลงมา 

พระสังฆาธิการทุกระดับบริหารงานด้วยวิธีรอรับคำสั่ง 

ถ้าข้างบนไม่ได้สั่งอะไรลงมา 

ข้างล่างก็จะไม่คิดอ่านทำอะไร

ข้างล่างจะทำอะไรก็ต่อเมื่อข้างบนสั่งลงมา 

นี่เป็นธรรมชาติในคณะสงฆ์ไทย 

แต่ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็คือ พอใจที่จะได้ทำอะไรๆ ตามที่ตนอยากจะทำ 

และธรรมชาตินี้แสดงออกให้เห็นชัดเจนในตำแหน่งพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส 

ขอให้ดูวัดที่มีอยู่ประมาณสามหมื่น-สี่หมื่นวัด ก็จะเห็นความจริงว่า แต่ละวัดมีทิศทางการบริหารที่ไม่เหมือนกันเลย ทั้งนี้เพราะเจ้าอาวาสในแต่ละวัดจะบริหารวัดไปตามที่ตนพอใจ 

วัดข้างบ้านผมเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด 

เจ้าอาวาสรูปหนึ่งในอดีตชอบปลูกต้นไม้ วัดก็ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ 

เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันชอบตัดต้นไม้ ต้นไม้ในวัด-รวมทั้งต้นไม้ที่เจ้าอาวาสรูปก่อนปลูกไว้-ก็จึงถูกตัดเกลี้ยง

ไม่รู้ว่าเจ้าอาวาสรูปต่อไปจะชอบอะไรอีก 

วัดที่มีอยู่ประมาณสามหมื่น-สี่หมื่นวัดจึงมีสถานะเหมือนสมบัติส่วนตัวของเจ้าอาวาส ท่านจะทำอะไรกับวัดก็ได้หมด 

บางท่านยืนยันว่าเจ้าอาวาสมีสิทธิ์ทำเช่นนั้นได้ เพราะคำว่า “เจ้าอาวาส” ก็แปลว่า “เจ้าของวัด” ตรงตัวอยู่แล้ว 

เป็นความจริงที่แสนจะเจ็บปวดเสียนี่กระไร 

ลองคิดดูเถิด วัดประมาณสามหมื่น-สี่หมื่นวัด ถ้ากำหนดทิศทางให้ดี ให้เหมาะ แล้วบริหารงานไปในทิศทางเดียวกัน จะเกิดพลังขับเคลื่อนที่มหาศาลขนาดไหน

นี่คือที่ผมบอกว่า – เรามีพร้อมทุกอย่าง แต่ไม่มีความคิด 

เป็นอันว่า เราต้องยอมรับความจริง ๒ ข้อ คือ 

๑ ผู้บริหารการพระศาสนาของเราจะทำอะไรก็ต่อเมื่อมีคำสั่งให้ทำเท่านั้น 

๒ เมื่อไม่มีใครสั่งให้ทำอะไร แต่ละวัดก็จะทำอะไรๆ ไปตามที่เจ้าอาวาสอยากทำ ซึ่งก็คือไปกันคนละทิศคนละทาง 

——————-

วิธีที่จะฟื้นฟูวัดให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยดังที่เคยเป็นมาในอดีต ผมขอเสนอให้ทำดังนี้ 

๑ ให้มีการทำบุญทุกวันพระตลอดทั้งปี

วัดทั่วไปทำบุญวันพระเฉพาะในช่วงเวลาเข้าพรรษา พอออกพรรษาแล้วหมดเขตกฐินคือหลังลอยกระทงแล้วก็เลิก ไปเริ่มทำบุญวันพระกันใหม่เมื่อเข้าพรรษาปีต่อไป 

ออกพรรษาแล้วก็ขอให้วัดต่างๆ ชักชวนญาติโยมมาทำบุญวันพระกันต่อไปอีก ทำกันทุกวันพระตลอดทั้งปี 

จะเรียกว่าช่วยกัน “เอาวันพระคืนมา” ก็ยังได้

๒ ขอให้วัดต่างๆ ชักชวนญาติโยมให้ถืออุโบสถศีลทุกวันพระ มาทำบุญแล้วกลับบ้าน ถืออยู่กับบ้านก็ได้ มาทำบุญแล้วนอนค้างที่วัดด้วย ก็ยิ่งดี

จะมีสักกี่คนไม่เป็นประมาณ แต่ขอให้มีทุกวัด 

๓ เมื่อมีญาติโยมมาวัด ให้ถือเป็นโอกาสที่จะแนะนำสั่งสอนบอกกล่าวให้ญาติโยมรู้จักพระธรรมวินัย คือนอกจากทาน ศีลแล้ว ก็ให้ปัญญาแก่ชาวบ้านด้วย 

นั่นหมายถึงว่าแต่ละวัดจะต้องฝึกหัดพระภิกษุสามเณรให้มีความสามารถพอที่จะถ่ายทอดพระธรรมวินัยสู่ญาติโยมด้วย 

อย่างน้อยที่สุด-ก็สอนด้วยการทำให้ดู ปฏิบัติตัวให้ชาวบ้านญาติโยมเห็น

เรื่องนี้เกี่ยวพันไปถึงนโยบายการเตรียมคนเพื่อเผยแผ่พระศาสนา 

ในความเห็นของผม พระธรรมดาที่อยู่ประจำวัดต่างๆ คุยธรรมะกับญาติโยมรอบๆ วัด ๓ คน ๕ ทำให้คนเข้าใจพระธรรมวินัยได้พอประมาณ นี่แหละที่ทำหน้าที่สืบสานพระศาสนาได้ดีกว่าพระดังๆ คนฟังเป็นร้อยเป็นพัน เครื่องกัณฑ์ครั้งละเป็นหมื่นเป็นแสนที่โชว์อยู่ตามสื่อต่างๆ 

เราควรช่วยกันสร้างพระประจำวัดที่พอใช้งานได้ ค่าตัวถูกๆ แค่ข้าวสุกวันละทัพพีให้มากๆ 

๔ ให้ความสำคัญแก่ญาติโยมรอบๆ วัดให้มากเป็นพิเศษ

เวลานี้เราส่วนหนึ่งชื่นชมยินดีกับความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้ง มจร และ มมร มองเห็นภาพพระสงฆ์ออกจากวัดไปช่วยกันสร้างบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต ปีละเป็นร้อยเป็นพัน 

แต่ญาติโยมที่อยู่รอบๆ วัด เป็นชาวพุทธระดับรากหญ้า เซ่อๆ ซ่าๆ ไม่ค่อยรู้หลักพระธรรมวินัย มีใครพยายามจะช่วยให้เขามีความรู้บ้างไหม

ถ้าโยมรอบๆ วัดยังโง่ๆ เซ่อๆ จะโกอินเตอร์ไปเพื่ออะไร 

ถอยกลับมาคิดเรื่องนี้กันให้จงมากเถิด 

ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ สรุปเป็นภาพรวมก็คือ 

สร้างกิจกรรม

ทำให้เป็นกิจวัตร

แล้วพัฒนาจนเป็นวิถีชีวิต

——————-

ทั้งหลายทั้งปวงที่เสนอมาพอเป็นตัวอย่างนี้ ถ้าผู้มีอำนาจสั่งไปที่คณะสงฆ์ แล้วคณะสงฆ์สั่งไปที่วัดต่างๆ ให้ทำ 

เรื่องมันก็จะง่ายแสนง่าย 

หรือถ้าเจ้าอาวาสทุกวัดมีความคิด มีอุดมการณ์ มีอุดมคติที่จะรักษาพระศาสนา และถ้ายิ่งขึ้นขั้น อุรํ ทตฺวา คือสละชีวิตเพื่อพระศาสนาด้วยแล้ว 

เรื่องมันก็จะง่ายแสนง่ายเช่นกัน

แต่เพราะธรรมชาติของเราไม่ใช่เช่นนั้นดังที่ได้บรรยายไว้แล้วข้างต้น ที่เสนอมานี้จึงไม่ได้คาดหวังแม้แต่น้อยว่าจะมีชาววัดที่ไหนยินดีพอใจจะเอาไปช่วยกันคิดอ่านและลงมือตาม 

สมมุติพระสงฆ์บางรูปอ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากทำ แต่ติดขัดตรงที่ท่านไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส 

ส่วนตัวเจ้าอาวาสเองก็ “ไม่เอาด้วย” กับเรื่องแบบนี้ 

เท่านี้ก็จอดแล้ว 

………………….

แต่ธรรมดามีอยู่ว่า พูดอะไรออกไปแล้วก็คงจะไปเข้าหูคนบ้าง 

เข้าหูแล้วก็คงจะมีคนสนใจฟังบ้าง 

ฟังแล้วก็คงจะมีคนเก็บเอาไปคิดอ่านต่อไปอีกบ้าง-แม้เพียงคนเดียว

อย่างไรเสียก็คงไม่สูญเปล่า

……………….

พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) ปราชญ์คนสำคัญของเมืองไทยเคยเล่าไว้ว่า คราวหนึ่ง นักปราชญ์ราชบัณฑิตของไทยกำลังประชุมพิจารณาศัพท์สำคัญคำหนึ่ง ยังคิดกันไม่ออกว่ามีความหมายว่าอย่างไร ท่านเองก็คิดจนปวดหัว 

วันหนึ่ง เลิกประชุมแล้วเดินผ่านสนามหลวง (สมัยนั้นสำนักงานราชบัณฑิตยสถานอยู่ติดกับวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์) ได้ยินเด็กที่วิ่งเล่นอยู่ในสนามหลวงโต้เถียงกันกับเพื่อน เด็กนั้นโพล่งคำอะไรออกมาคำหนึ่งอันเป็นคำติดปากตามประสาเด็ก ท่านฟังแล้วเกิด insight ขึ้นมาในฉับพลันนั้นเอง แก้ไขคำที่ติดขัดนั้นทะลุปรุโปร่งไปได้ 

ท่านรู้สึกขอบคุณเด็กคนนั้นเป็นอย่างยิ่งที่ช่วยให้ความรู้แก่ท่าน

……………….

ข้อเสนอทั้งปวงที่เขียนมานี้ อาจเป็นคำของเด็กข้างสนามหลวงคนหนึ่งก็เป็นได้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ เมษายน ๒๕๖๒

๑๖:๔๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *