บาลีวันละคำ

วิสรรชนีย์ (บาลีวันละคำ 3,482)

วิสรรชนีย์

คืออะไรเข้าใจไม่ยาก

ใช้ให้ถูกก็ไม่ยาก-ถ้าใส่ใจ

อ่านว่า วิ-สัน-ชะ-นี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วิสรรชนีย์ : (คำนาม) เครื่องหมายสระรูปดังนี้ ะ ใช้ประหลังอักษร. (ส. วิสรฺชนีย).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “วิสรรชนีย์” คำสันสกฤตว่า “วิสรฺชนีย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ฉบับที่ผู้เขียนบีวันละคำใช้ค้นคว้าไม่ได้เก็บคำว่า “วิสรฺชนีย” ไว้ แต่มีคำว่า “วิสรฺชน” บอกไว้ดังนี้ –

วิสรฺชน : (คำนาม) ทาน; การสละ; การส่งหรือใช้ไป; การปลดหรือไล่ออก; a gift; quitting; sending; dismissing or sending away.”

ไม่มีความหมายที่ส่อแสดงไปถึงเครื่องหมายสระ อะ ที่ใช้ในหนังสือไทย

วิสรฺชน” ในสันสกฤตตรงกับบาลีว่า “วิสฺสชฺชน

วิสฺสชฺชน” อ่านว่า วิด-สัด-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สชฺชฺ (ธาตุ = ตอบ, ชี้แจง; สละ, ละ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ซ้อน สฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (วิ + สฺ + สชฺช

: วิ + สฺ + สชฺช = วิสฺสชฺชฺ + ยุ > อน = วิสฺสชฺชน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การตอบ” (2) “การสละอย่างวิเศษ

วิสฺสชฺชน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) การบริจาค, การมอบให้ (giving out, bestowing) 

(2) การส่งออก, การขับออก (sending off, discharging) 

(3) การวิสัชนา, การตอบ (answer, reply)

วิสฺสชฺชน” ในภาษาไทยใช้เป็น “วิสัชนา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิสัชนา : (คำกริยา) ตอบ, ชี้แจง, เช่น ขอวิสัชนาดังนี้. (ป. วิสชฺชนา).”

ยังไม่เห็นเค้าอีกเช่นกัน

คลำหาต่อไป

ในบาลีมีอีกคำหนึ่งที่รากศัพท์เดียวกับ “วิสฺสชฺชน” คือ “วิสฺสคฺค” ( กับ แปลงกันได้ มีทั่วไปในบาลี เช่น สํเวชน > สํเวค = สังเวช, วิภชน > วิภาค = การแบ่ง)

วิสฺสคฺค” อ่านว่า วิด-สัก-คะ แปลว่า การจ่ายให้, การบริการ, การบริจาค, การแจก, การอด [อาหาร] (dispensing, serving, donation, giving out, holding [a meal])

บาลี “วิสฺสคฺค” สันสกฤตเป็น “วิสรฺค

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “วิสรฺค” ไว้ 2 คำ ขอยกมาเฉพาะคำที่ประสงค์ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วิสรฺค : (คำนาม) ‘วิสรรค์,’ มฤทุมหาปราณหรือวิสรรค์, อันหมายด้วยจุดตั้งได้ฉากสองจุดดังนี้ ( : ), และเปนเครื่องหมายอันใช้แทนอักษร ส หรือ ร, ตัวสกดของวิภัตติ์ต่างๆ ทั้งนามและกริยา, ไทเรียกว่า ‘วิสรรชนี;’ the soft aspirate or Visarga, marked by two perpendicular dots, thus ( : ), and as the substitute for the letters ส or ร, the termination of various inflections both of nouns and verbs.”

ในที่สุดก็มาได้เค้าที่คำว่า “วิสรฺค” ในสันสกฤต

คำจำกัดความที่ว่า “อันหมายด้วยจุดตั้งได้ฉากสองจุดดังนี้ ( : )” เป็นเค้าว่า เครื่องหมาย “:” ดังนี้นี่เองที่หนังสือไทยเอามาแปลงรูปเป็น -ะ 

อาจารย์ภาษาไทยตั้งชื่อเครื่องหมายนี้ว่า “วิสรรชนีย์” ตรงกับที่คำนิยามบอกต่อไปว่า “ไทเรียกว่า ‘วิสรรชนี’ ” 

นักเรียนไทยเรียกกันเป็นสามัญว่า “สระ อะ”

เวลาใช้สระ อะ ลงที่ท้ายพยัญชนะ เรียกเป็นภาษาไวยากรณ์ว่า “ประวิสรรชนีย์” เรียกแบบภาษาปากว่า “ใส่สระ อะ”

ขยายความ :

เครื่องหมาย “:” คำอังกฤษเรียกว่า colon 

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล colon เป็นไทยว่า “เครื่องหมายจุดคู่”

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล colon เป็นบาลีว่า –

vākyaccheda-( : ) lakkhaṇa วากฺยจฺเฉท-( : ) ลกฺขณ (วาก-เกี๊ยด-เฉ-ทะ-ลัก-ขะ-นะ) = เครื่องหมายตัดข้อความ (รูป : )

หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่นๆ ของราชบัณฑิตยสถาน เรียกเครื่องหมาย “:” ว่า “ทวิภาค” 

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “ทวิภาค” ไม่ได้มีคำนิยามที่กล่าวถึงเครื่องหมาย “:” แต่ประการใด

แถม :

คำที่ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ = ไม่ต้องมีสระ อะ กลางคำ แต่มักมีผู้เขียนผิด คือใส่สระ อะ กลางคำเข้าไปด้วยมีอยู่หลายคำ เช่น –

อุปการคุณ

สาธารณสุข

มรณภาพ

ฯลฯ

คำจำพวกนี้ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ = ไม่ต้องมีสระ อะ กลางคำ

ในห้วงเวลาที่ผ่าน มีพระเถระผู้ใหญ่ถึงแก่มรณภาพ มีผู้เขียนคำว่า “มรณภาพ” มีสระ อะ กลางคำกันดกดื่นที่สุด ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่นักเรียนบาลีที่เรียนจบชั้นสูงสุดแล้ว-ซึ่งควรจะมีความรู้ภาษาไทยแม่นยำอย่างยิ่ง ก็พลอยสะกดคำว่า “มรณภาพ” แบบมีสระ อะ กลางคำกับเขาด้วย

ในที่นี้ ไม่ได้เขียนคำผิดมีสระ อะ กลางคำในที่ที่ไม่ต้องมีมาให้เห็น เนื่องจากมีผู้ให้ความเห็นว่า การยกคำผิดมาแสดงให้เห็นเท่ากับเชิญชวนให้เขียนคำนั้นผิดต่อไปอีกนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

หลักภาษาไทย –

: ไม่ยากเกินไปที่จะเรียนรู้

: แต่ยากเพราะไม่คิดจะเรียน

#บาลีวันละคำ (3,482)

24-12-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *