เอตํ พุทฺธาน สาสนํ (บาลีวันละคำ 3,535)
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ
หรือ – เอตํ พุทฺธานสาสนํ?
คำที่เราเรียกกันว่า “โอวาทปาติโมกข์” นั้น ข้อความต้นฉบับเป็นคำฉันท์หรือคาถาภาษาบาลี (“ฉันท์” หรือ “คาถา” หมายถึงข้อความที่เป็นกาพย์กลอน) นับได้ 3 บทมีเศษ (1 บทมี 4 วรรค)
ข้อความวรรคหนึ่งที่ปรากฏ 2 ครั้ง คือ “เอตํ พุทฺธาน สาสนํ” อ่านว่า เอ-ตัง พุด-ทา-นะ สา-สะ-นัง แปลว่า “นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
มีข้อสงสัยที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่า “เอตํ พุทฺธาน สาสนํ” หรือ – “เอตํ พุทฺธานสาสนํ”?
นักเรียนบาลีย่อมสังเกตเห็นว่า ข้อความนี้เขียนต่างกัน แต่ผู้ที่ไม่ได้เรียนบาลีอาจจะไม่ได้สังเกต
คำที่ต่างกันคือ “พุทฺธาน สาสนํ” กับ “พุทฺธานสาสนํ”
“พุทฺธาน สาสนํ” เขียนแยกเป็น 2 คำ
“พุทฺธานสาสนํ” เขียนติดกันเป็นคำเดียว
ข้อสงสัยคือคือเขียนแบบไหนถูก “พุทฺธาน สาสนํ” หรือ “พุทฺธานสาสนํ”?
“โอวาทปาติโมกข์” มาในพระไตรปิฎก 2 แห่ง คือ –
1 มหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 54
2 พุทธวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 24
ข้อแตกต่างที่ควรสังเกต คือ –
มหาปทานสูตร คาถาแรกเป็น “ขนฺตี ปรมํ …”
พุทธวรรค ธรรมบท คาถาแรกเป็น “สพฺพปาปสฺส …”
มหาปทานสูตรเป็น “พุทฺธานสาสนํ” (ติดกันเป็นคำเดียว)
พุทธวรรค ธรรมบทเป็น “พุทฺธาน สาสนํ” (แยกเป็น 2 คำ)
บาลีไวยากรณ์ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ว่าด้วยสนธิ แสดงกฎของนิคหิตสนธิตอนหนึ่งว่า “เมื่อมีสระหรือพยัญชนะอยู่เบื้องหลัง ลบนิคหิตซึ่งอยู่หน้าบ้างก็ได้”
และยกตัวอย่าง พุทฺธานํ + สาสนํ ลบนิคคหิตที่ พุทฺธานํ เป็น พุทฺธาน สนธิกับ สาสนํ เป็น พุทฺธานสาสนํ
ตามอธิบายนี้ ได้ข้อยุติว่า ข้อความในวรรคนี้ต้องเป็น “เอตํ พุทฺธานสาสนํ” คือ พุทฺธานํ + สาสนํ = เขียนติดกัน
: พุทฺธานํ + สาสนํ = พุทฺธานสาสนํ
แต่พึงเข้าใจว่า แม้จะเขียนติดกัน แต่ก็ยังคงเป็น 2 คำ คือ “พุทฺธานํ” คำหนึ่ง และ “สาสนํ” คำหนึ่ง เพราะเป็นคำสนธิ ไม่ใช่คำสมาส
อาจมีข้อสงสัยต่อไปอีกว่า แล้วที่แยกเป็น “เอตํ พุทฺธาน สาสนํ” ไม่ผิดหรือ จะว่าอย่างไรกัน?
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินคำอธิบายว่า แยกเป็น 2 คำก็ไม่ผิด เพราะใช้กฎ “ฉันทานุรักษ์” อธิบายให้เข้าใจง่ายว่า “พุทฺธาน” กับ “สาสนํ” เป็นคนละคำกัน ข้อความในวรรคนี้เมื่อกล่าวรวมกันเป็น “เอตํ พุทฺธานํ สาสนํ” คำว่า –นํ ที่ พุทฺธานํ อยู่ในลำดับที่ต้องเป็นคำลหุ คือเสียงเบาหรือเสียงสั้น แต่ –นํ เป็นคำครุ ท่านจึงอนุญาตให้ลบนิคหิตจาก “พุทฺธานํ” เป็น “พุทฺธาน” เพื่อให้ –น เป็นคำลหุตามหลักของฉันทลักษณ์ และยังคงเขียนแยกกันเพราะเป็นคนละคำกัน
ไวยากรณ์รวบรัด :
(๑) “เอตํ” (เอ-ตัง) ศัพท์เดิมเป็น “เอต” (เอ-ตะ) เป็นพวกสรรพนาม แปลว่า นั่น, นี่ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “เอตํ” แปลว่า “(ความที่กล่าวมา) นี่”
(๒) “พุทฺธานํ” (พุด-ทา-นัง) ศัพท์เดิมเป็น “พุทฺธ” (พุด-ทะ) แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หมายถึงพระพุทธเจ้า แจกด้วยวิภัตตินามที่หก พหูพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “พุทฺธานํ” แปลว่า “ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
(๓) “สาสนํ” (สา-สะ-นัง) ศัพท์เดิมเป็น “สาสน” (สา-สะ-นะ) แปลว่า คำสั่งสอน แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สาสนํ” แปลว่า “เป็นคำสั่งสอน”
ขยายความ :
โอวาทปาติโมกข์
…………..
สพฺพปาปสฺส อกรณํ
กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ
ไม่ทำความชั่วทุกชนิด
ทำแต่ความดี
ทำใจให้ผ่องใส
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
Abstention from all evil,
Cultivation of the wholesome,
Purification of the heart;
This is the Message of the Buddhas.
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพฃิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ
ขันติคือความอดทน เป็นตบะอย่างยอด
นิพพาน ท่านผู้รู้กล่าวว่าเป็นยอด
ผู้ที่ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ ไม่จัดว่าเป็นบรรพชิต
ผู้ที่ยังเบียดเบียนคนอื่นอยู่ ไม่จัดว่าเป็นสมณะ
Forbearance is the highest ascetic practice,
‘Nibbana is supreme’; say the Buddhas.
He is not a ‘gone forth’ who harms another.
He is not a recluse who molests another.
อนูปวาโท อนูปฆาโต
ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ
ไม่ว่าร้ายใคร ไม่กระทบกระทั่งใคร
ระมัดระวังในปาติโมกข์
บริโภคพอประมาณ
อยู่ในสถานสงัด
ฝึกหัดจิตให้สงบ
นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
To speak no ill, To do no harm,
To observe the Rules,
To be moderate in eating,
To live in a secluded abode,
To devote oneself to meditation-
This is the Message of the Buddhas.
คำแปลเป็นไทยและภาษาอังกฤษ:
หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โอวาทปาติโมกข์คือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
: อย่าอธิบายให้เป็นหลักธรรมแห่งความรัก
#บาลีวันละคำ (3,535)
15-2-65
…………………………….