บาลีวันละคำ

มาตาภริยา (บาลีวันละคำ 3,608)

มาตาภริยา

ภรรยาเยี่ยงมารดา

…………..

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี ได้ทรงแสดงเรื่องภรรยา 7 ประเภท โปรดนางสุชาดาสะใภ้ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ภรรยา 7 ประเภทมีคำเรียกตามบาลีพระไตรปิฎก (ภริยาสูตร สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 60) ดังนี้:- 

วธกสมา = ภรรยาเสมอด้วยผู้ฆ่า

โจรสมา = ภรรยาเสมอด้วยโจร

อัยยสมา = ภรรยาเสมอด้วยนาย

มาตุสมา = ภรรยาเสมอด้วยมารดา

ภคินิสมา = ภรรยาเสมอด้วยน้องสาว

สขีสมา = ภรรยาเสมอด้วยเพื่อน

ทาสีสมา = ภรรยาเสมอด้วยทาส

ในภาษาไทย ท่านใช้คำเรียกภรรยาทั้ง 7 ประเภทว่า วธกาภริยา โจรีภริยา อัยยาภริยา มาตาภริยา ภคินีภริยา สขีภริยา ทาสีภริยา

…………..

มาตาภริยา” อ่านว่า มา-ตา-พะ-ริ-ยา

ประกอบด้วยคำว่า มาตา + ภริยา 

(๑) “มาตา

มาตา” เป็นศัพท์ที่แจกรูปตามวิภัตติแล้ว ศัพท์เดิมเป็น “มาตุ” อ่านว่า มา-ตุ รากศัพท์มาจาก –

(1) มานฺ (ธาตุ = รัก, ทะนุถนอม) + ราตุ ปัจจัย, ลบ ที่ ราตุ (ราตุ > อาตุ), ลบพยัญชนะที่สุดธาตุและสระ (มานฺ > มา > )

: มานฺ > มา > + ราตุ > อาตุ : + อาตุ = มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ

(2) ปา (ธาตุ = ดื่ม) + ตุ ปัจจัย, แปลง ที่ ปา เป็น (ปา > มา)

: ปา + ตุ = ปาตุ > มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม

มาตุ + สิ วิภัตติ, แปลง อุ กับ สิ เป็น อา = มาตา หมายถึง แม่ (mother) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มาตา” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

มาตา : (คำนาม) แม่. (ป.; ส. มาตฺฤ).”

มาตา” คือที่เราแปลงใช้ในภาษาไทยเป็น “มารดา” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มารดา” ไว้กับคำว่า “มารดร” บอกไว้ว่า –

มารดร, มารดา : (คำนาม) แม่. (ป. มาตา; ส. มาตฺฤ).

(๒) “ภริยา” 

บาลีอ่านว่า พะ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + อิ อาคม + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ภรฺ + อิ + = ภริย + อา = ภริยา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันสามีต้องเลี้ยงดู” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภริยา” ว่า a wife และบอกคำแปลตามรากศัพท์ไว้ว่า one who is supported (ผู้ถูกเลี้ยงดู)

บาลี “ภริยา” ในภาษาไทยใช้ว่า “ภริยา” และ “ภรรยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(1) ภริยา : (คำนาม) ภรรยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ป.; ส. ภารฺยา).

(2) ภรรยา : (คำนาม) ภริยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ส. ภารฺยา; ป. ภริยา).

โปรดสังเกตศึกษาวิธีให้คำนิยามของพจนานุกรมฯ 

ภริยา” บอกว่าคือ “ภรรยา

ภรรยา” ก็บอกว่าคือ “ภริยา

หมายความว่าทั้ง 2 คำใช้ได้เท่ากัน ไม่มีคำไหนเป็นคำหลัก-คำรอง คือเป็นคำหลักทั้งคู่ คำนิยามต่อมาก็ตรงกันทั้ง 2 คำ

มาตา + ภริยา = มาตาภริยา แปลว่า “ภรรยาผู้เป็นเหมือนมารดา” หรือ “ภรรยาเยี่ยงมารดา

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎก (สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย เล่ม 23 ข้อ 60) มีคาถาที่เป็นพระพุทธพจน์แสดงลักษณะของ “มาตาภริยา” ดังนี้ 

…………..

ยา สพฺพทา โหติ หิตานุกมฺปินี

มาตาว ปุตฺตํ อนุรกฺขเต ปตึ

ตโต ธนํ สมฺภตมสฺส รกฺขติ

ยา เอวรูปา ปุริสสฺส ภริยา

มาตา จ ภริยาติ จ สา ปวุจฺจติ  ฯ

…………..

แปลโดยประสงค์ว่า –

…………..

ทุกเมื่อหมั่นปรนนิบัติด้วยปรารถนาดี

ดูแลสามีเหมือนมารดาถนอมบุตร

ทรัพย์สินไม่สิ้นสุดช่วยกันสะสมรักษา

บุรุษมีภรรยาลักษณะเห็นปานนี้

พระจอมมุนีตรัสเรียกว่า “มาตาภริยา” ภรรยาเยี่ยงมารดา

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [282] สรุปลักษณะของ “มาตาภริยา” ไว้ดังนี้ 

…………..

4. มาตาภริยา (ภรรยาเยี่ยงมารดา, ภรรยาที่หวังดีเสมอ คอยห่วงใยเอาใจใส่สามี เหมือนมารดาปกป้องบุตร และประหยัดรักษาทรัพย์ที่หามาได้ — Mātā-bhariyā: a wife like a mother; motherly wife)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เมียไม่ใช่แม่

: แต่เมียดีเหมือนแม่

#บาลีวันละคำ (3,608)

29-4-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *