บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กฎหมายเพื่อรักษาพระศาสนา

——————————-

กฎหมายเพื่อรักษาพระศาสนา

โปรดทราบก่อนว่า ภาพประกอบเรื่องนี้ไม่ใช่ภาพปัจจุบันนะครับ

เป็นภาพในอดีต ผมบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ คือเมื่อ ๔ ปีมาแล้ว

จนถึงวันนี้ จังหวัดบึงกาฬมี “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจังหวัด” เรียบร้อยไปแล้ว หรือเป็นอย่างไรไปแล้ว ผมไม่ทราบ

ใครรู้ข่าว เอามาบอกเล่าสู่กันฟังบ้างก็จะเป็นการดี

เมื่อตอนที่มีภาพนี้ปรากฏในเฟซบุ๊ก ผมแสดงความคิดเห็นไปแล้วเล็กน้อย 

วันนี้ขออนุญาตนำมาขยายความ ดังต่อไปนี้

……………………………………….

บึงกาฬโมเดล

บึงกาฬประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจังหวัด

……………………………………….

ขออนุโมทนาสาธุอย่างยิ่งกับจังหวัดบึงกาฬครับที่ประกาศออกมาอย่างนั้น

ปัญหาที่ควรจะมีคำตอบที่ชัดเจนก็คือ-ถ้าเกิดมีคนหัวหมอร้องถามขึ้นมาว่า ประกาศแบบนี้มีกฎหมายรองรับหรือเปล่า? 

เราจะตอบว่าอย่างไร?

อย่าให้กลายเป็นว่า-จังหวัดไหนอยากประกาศก็ประกาศไป แต่ไม่มีผลตามกฎหมาย

คนส่วนมากจะรู้สึก จะคิด หรือจะเข้าใจกันว่า ประเทศเราเป็นเมืองพุทธมาตลอดเวลาอยู่แล้ว อย่างกรณีเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก็มีคนบอกว่า ชาติของเรามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปบัญญัติอะไรอีก

ความคิดเห็นหรือทัศนะแบบนี้แหละครับคือทางมาแห่งมหันตภัยของพระศาสนา

เรื่องนี้พอจะเทียบเคียงให้เข้าใจได้ชัดๆ-เหมือนสามีภรรยา

สมมุติว่า ภรรยาคนที่ ๑ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

สามีไปมีภรรยาคนที่ ๒ และจดทะเบียนสมรส

ภรรยาคนที่ ๑ จะมามัวนอนใจไม่ได้เลยว่ายังไงๆ ฉันก็เป็นภรรยาอยู่แล้ว ฉันเป็นภรรยามาก่อนเธอ

ที่นอนใจไม่ได้ก็เพราะกฎหมายรับรองเฉพาะภรรยาที่จดทะเบียน

จะเป็นภรรยามาก่อนหรือเป็นทีหลัง กฎหมายไม่รับทราบ

กฎหมายรับทราบเฉพาะภรรยาที่จดทะเบียน

ภรรยาที่จดทะเบียน มีสิทธิ์

ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียน หมดสิทธิ์

นี่คือข้อเท็จจริง

กรณีศาสนาประจำจังหวัดหรือศาสนาประจำชาตินี่ก็ทำนองเดียวกัน เรานอนใจว่าเราเป็นพุทธอยู่แล้ว บ้านเมืองเราผู้คนนับถือศาสนาพุทธตั้งมากมาย 

แต่ถ้าวันหนึ่งมีกฎหมายออกมาว่า “ประเทศไทยมีศาสนา x (ซึ่งไม่ใช่พระพุทธศาสนา) เป็นศาสนาประจำชาติ” 

ศาสนาพุทธก็จอดสนิท ทั้งๆ ที่มีผู้คนนับถืออยู่เต็มบ้านเต็มเมืองนั่นแหละ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพราะเราอยู่ในระบบนิติรัฐ คือถือกฎหมายเป็นสำคัญ 

เรื่องแบบนี้ก็คือที่เรารู้จักกันในคำว่า นิตินัย-พฤตินัย นั่นเอง

เวลานี้นิตินัยสำคัญที่สุด

ระบบราชการทั้งหมดอยู่ภายใต้นิตินัย

สมมุติว่ามีกฎหมายหรือมีระเบียบกำหนดไว้ว่า “ผู้นับถือศาสนา x เดินทางไปแสวงบุญต่างประเทศ รัฐบาลไทยต้องสนับสนุนอย่างนี้ๆ ตั้งแต่ไปจนกลับ” 

ถ้ามีกฎหมายหรือมีระเบียบกำหนดไว้แบบนี้ หน่วยราชการไหนเกี่ยวข้องก็ต้องสนับสนุนทั้งหมด แม้แต่คนที่ไม่ได้นับถือศาสนา x ถ้ามีตำแหน่งฐานะเกี่ยวข้อง ก็ต้องสนับสนุน 

ไม่สนับสนุน ผิดกฎหมาย 

นี่คือผลที่เกิดตามมาจากการที่มีกฎหมายรองรับ

และตรงจุดนี้แหละที่คนส่วนมากยังไม่ได้ตระหนักสำนึกกัน 

คนส่วนมากยังมัวนอนใจว่าเราเป็นพุทธอยู่แล้ว พุทธเรามีมากกว่า จะต้องไปกลัวอะไร

และคนส่วนมากที่ยังไม่ตระหนักสำนึกในเรื่องนี้ก็คือบรรดา “ชาววัด” ทั้งหลาย โดยเฉพาะชาววัดที่มีตำแหน่งเป็นพระสังฆาธิการตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาสขึ้นไป จนกระทั่งถึงกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นที่สุด 

ขอถวายไว้เป็น “กิจของสงฆ์” อย่างสำคัญที่สุด คือ กิจการพระศาสนาไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ หาทางทำให้มีกฎหมายรองรับไว้ก่อน เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ชาวบ้านก็ต้องช่วยด้วย

แต่เรื่องนี้ชาววัดต้องเป็นหลัก

ผมไม่ทราบว่าใน มจร และ มมร มีคณะหรือมีภาควิชานิติศาสตร์หรือเปล่า ถ้ายังไม่มี ก็สมควรเปิดให้มี ถ้ามีอยู่แล้วก็ยิ่งดี 

แต่ต้องวางเป้าหมายไว้ให้ชัดว่า เราจะเปิดสอนวิชานี้เพื่ออบรมบ่มเพาะให้ชาววัดมีวิสัยทัศน์ทางกฎหมายที่กว้างไกลและทันเกม เพื่อใช้กฎหมายรักษาพระศาสนาเป็นสำคัญ 

อย่าคิดเพียงแค่-จะได้มีวุฒิการศึกษาเพิ่มขึ้นอีกสาขาหนึ่ง เหมือนกับที่ชาวบ้านเขาเรียนกันอยู่แล้ว

……………………………………….

ถ้าผู้บริหารการพระศาสนาไม่ตระหนักถึงประโยชน์ของพระศาสนาที่จะได้มาจากกฎหมาย เราก็ปล่อยโอกาสดีๆ ให้หลุดหายไปทุกวัน

และถ้าผู้บริหารการพระศาสนาไม่ตระหนักถึงภัยที่จะมาจากกฎหมาย พระศาสนาก็ฉิบหายได้เร็วพลัน

……………………………………….

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ กันยายน ๒๕๖๕

๑๗:๑๗

……………………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *