บาลีวันละคำ

ประวิสรรชนีย์ (บาลีวันละคำ 4,200)

ประวิสรรชนีย์ 

คำสมาสไทยถูกวิธี คือ ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำ

ประวิสรรชนีย์” อ่านว่า ปฺระ-วิ-สัน-ชะ-นี แยกคำเป็น ประ + วิสรรชนีย์ 

(๑) “ประ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ประ” ไว้ 5 คำ “ประ” ที่ประสงค์ในที่นี้คือ “ประ ๓” บอกไว้ดังนี้ – 

ประ ๓ : (คำกริยา) ทำให้เป็นจุด ๆ เช่น ประไข่ปลา, ทำให้เป็นจุด ๆ หรือเม็ด ๆ ทั่วไปอย่างประแป้ง.”

ความหมายที่ต้องการในที่นี้ คือ “ทำให้เป็นจุด ๆ”

พจนานุกรมฯ ยังบอกไว้ว่า ลูกคำของ “ประ ๓” มี 4 คำ คือ ประแป้ง, ประโปรย, ประพรม และ ประวิสรรชนีย์ 

เป็นอันยืนยันว่า คำว่า “ประ” ในที่นี้ (คือ “ประวิสรรชนีย์”) เป็น “ประ ๓” ดังที่ยกมา

(๒) “วิสรรชนีย์

อ่านว่า วิ-สัน-ชะ-นี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วิสรรชนีย์ : (คำนาม) เครื่องหมายสระรูปดังนี้ ะ ใช้ประหลังอักษร. (ส. วิสรฺชนีย).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “วิสรรชนีย์” คำสันสกฤตเป็น “วิสรฺชนีย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ฉบับที่ผู้เขียนบีวันละคำใช้ค้นคว้าไม่ได้เก็บคำว่า “วิสรฺชนีย” ไว้ แต่ไปได้เค้าที่คำว่า “วิสรฺค

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “วิสรฺค” ไว้ 2 คำ ขอยกมาเฉพาะคำที่ประสงค์ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วิสรฺค : (คำนาม) ‘วิสรรค์,’ มฤทุมหาปราณหรือวิสรรค์, อันหมายด้วยจุดตั้งได้ฉากสองจุดดังนี้ ( : ), และเปนเครื่องหมายอันใช้แทนอักษร ส หรือ ร, ตัวสกดของวิภัตติ์ต่างๆ ทั้งนามและกริยา, ไทเรียกว่า ‘วิสรรชนี;’ the soft aspirate or Visarga, marked by two perpendicular dots, thus ( : ), and as the substitute for the letters ส or ร, the termination of various inflections both of nouns and verbs.”

คำจำกัดความที่ว่า “อันหมายด้วยจุดตั้งได้ฉากสองจุดดังนี้ ( : )” เป็นเค้าว่า เครื่องหมาย “:” ดังนี้นี่เองที่หนังสือไทยเอามาแปลงรูปเป็น -ะ นักเรียนไทยเรียกกันเป็นสามัญว่า “สระ อะ”

อาจารย์ภาษาไทยตั้งชื่อสระ อะ ว่า “วิสรรชนีย์” ตรงกับที่คำนิยามบอกต่อไปว่า “ไทเรียกว่า ‘วิสรรชนี’ ” 

สันสกฤต “วิสรฺค” ตรงกับบาลี “วิสฺสคฺค” อ่านว่า วิด-สัก-คะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สชฺชฺ (ธาตุ = ตอบ, ชี้แจง; สละ, ละ) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (วิ + สฺ + สชฺช), แปลง ชฺชฺ ที่ธาตุ เป็น คฺค 

: วิ + สฺ + สชฺช = วิสฺสชฺชฺ + = วิสฺสชฺช > วิสฺสคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “การตอบ” (2) “การสละอย่างวิเศษ” หมายถึง การจ่ายให้, การบริการ, การบริจาค, การแจก, การอด [อาหาร] (dispensing, serving, donation, giving out, holding [a meal])

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตามรูปศัพท์แล้ว “วิสฺสคฺค” หรือ “วิสรฺค” กลายรูปเป็น “วิสรรชนีย์” ดูจะห่างไกลกันมาก ศัพท์ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในสันสกฤต คือ “วิสรฺชน” ตรงกับบาลีว่า “วิสฺสชฺชน” ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกับ “วิสฺสคฺค” นั่นเอง (แต่ลงปัจจัยคนละตัว)

วิสฺสชฺชน” ในภาษาไทยใช้เป็น “วิสัชนา” ที่เราคุ้นกันอยู่ แปลว่า ตอบ, ชี้แจง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วิสรฺชน” บอกไว้ดังนี้ –

วิสรฺชน : (คำนาม) ทาน; การสละ; การส่งหรือใช้ไป; การปลดหรือไล่ออก; a gift; quitting; sending; dismissing or sending away.”

อธิบายแบบ “ลากเข้าหาคำ” ว่า ในคำว่า “วิสรฺค” ของสันสกฤต มีคำนิยามตอนหนึ่งว่า “อันหมายด้วยจุดตั้งได้ฉากสองจุดดังนี้ ( : ), … ไทเรียกว่า ‘วิสรรชนี’ ” คำว่า “วิสรรชนีย์” จึงต้องตั้งหลักที่ “วิสรฺค” 

วิสรฺค” ตรงกับบาลีว่า “วิสฺสคฺค” ซึ่งมีอีกรูปหนึ่งว่า “วิสฺสชฺชน” 

วิสฺสชฺชน” ตรงกับสันสกฤตว่า “วิสรฺชน

วิสรฺชน” ลง อีย ปัจจัย ก็จะได้รูปเป็น “วิสรฺชนีย

และ “วิสรฺชนีย” นี่เองกลายรูปมาเป็น “วิสรรชนีย์” ในภาษาไทย

ประ + วิสรรชนีย์ = ประวิสรรชนีย์ 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ประวิสรรชนีย์ : (คำกริยา) ใส่เครื่องหมายวิสรรชนีย์.”

อภิปรายขยายความ :

“ใส่เครื่องหมายวิสรรชนีย์” ก็คือใส่สระ อะ ลงที่ท้ายพยัญชนะ เรียกเป็นภาษาไวยากรณ์ว่า “ประวิสรรชนีย์” เรียกแบบภาษาปากว่า “ใส่สระ อะ”

คำสมาสไทยมีหลักภาษาอยู่ว่า ถ้ามีเสียงสระ อะ อยู่กลางคำ ไม่ต้องใส่สระ อะ พูดเป็นสูตรว่า “ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำ”

ตัวอย่างเช่นคำว่า “สาธารณะ” ถ้าเขียนเดี่ยว ๆ หรืออยู่ท้ายคำ ก็ต้องใส่สระ อะ (ประวิสรรชนีย์) ที่ -ณะ คือเขียนเป็น “สาธารณะ”

แต่ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่นมีคำว่า “สุข” มาต่อท้าย คือ สาธารณะ + สุข 

แทนที่จะเป็น “สาธารณะสุข” 

ก็จะต้องเป็น “สาธารณสุข”

คือตัดสระ อะ ที่ -ณะ ออก ตามสูตร “ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำ”

ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านโพสต์ต่าง ๆ ทางเฟซบุ๊กทุกวันนี้ พบคำที่ไม่ต้องใส่สระ อะ กลางคำ แต่ก็ใส่กันอย่างที่เรียกได้ว่าเกลื่อนกลาดดาษดื่นไปหมด เช่น –

อุปการคุณ เขียนเป็น อุปการะคุณ

ภารกิจ เขียนเป็น ภาระกิจ

มรณภาพ เขียนเป็น มรณะภาพ

ฯลฯ

ดูราวกับว่าผู้เขียนคำผิด ๆ เหล่านี้ไม่ได้รับรู้ รับทราบ รับฟังอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับหลักที่ว่า “คำสมาสไทยถูกวิธี คือ ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำ”

ในที่นี้ เขียนคำผิดให้เห็นไว้ด้วย เป็นการสวนทางกับหลักจิตวิทยาการสอนภาษาที่ว่า อย่าให้ผู้เรียนเห็นคำผิด เพราะเห็นแล้วจะเกิดความเคยชินเอาไปเขียนตาม แต่ผู้เขียนบาลีวันละคำต้องการย้ำให้เห็นว่า นี่คือคำผิด อย่าเขียนผิดแบบนี้

หลักภาษาเป็นสิ่งที่คนมีปัญญาธรรมดา ๆ ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ 

หลักภาษาเป็นสิ่งที่คนมีสติธรรมดา ๆ ทุกคนสามารถเตือนตนให้ปฏิบัติตามได้โดยไม่ยาก

ภาษาเป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติ เราสามารถช่วยกันทำให้สมบัติวัฒนธรรมของเราเป็นสมบัติที่งดงามได้ ด้วยการใช้ภาษาให้ถูกต้อง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ามักง่ายเรื่องหนึ่งแล้วไม่แก้ไข

: จงแน่ใจเถิดว่า-ต่อไปก็มักง่ายได้ทุกเรื่อง

#บาลีวันละคำ (4,200)

12-12-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *