ธัมมาวาส (บาลีวันละคำ 4,554)

ธัมมาวาส
เขตพระธรรม
…………..
ตามหลักอันมีมาแต่เดิม ท่านแบ่งผังอาวาสเป็น 2 เขต คือ พุทธาวาสกับสังฆาวาส แต่ผู้รู้ในปัจจุบันท่านแบ่งผังอาวาสเป็น 3 เขต ตามแนวแห่งพระรัตนตรัย คือ –
1 เขตที่มีโบสถ์ วิหาร เจดีย์ สถูป พระธาตุ เรียกว่า “พุทธาวาส”
2 เขตที่มีศาลาการเปรียญ หอไตร หอสวดมนต์ เรียกว่า “ธัมมาวาส”
3 เขตที่เป็นกุฏิที่พระสงฆ์อยู่ เรียกว่า “สังฆาวาส”
…………..
“ธัมมาวาส” อ่านว่า ทำ-มา-วาด
ประกอบด้วยคำว่า ธัมม + อาวาส
(๑) “ธัมม”
เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลาง ๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” ภาษาไทยนิยมเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” เขียนอิงรูปคำเดิมเป็น “ธัมม” มีความหมายเน้นหนักตามข้อ (2) และ (3)
(๒) “อาวาส”
บาลีอ่านว่า อา-วา-สะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ณ ปัจจัย
ทบทวนหลักการทางไวยากรณ์ของ ณ ปัจจัย :
(1) ณ ปัจจัย หรือปัจจัยที่เนื่องด้วย ณ (เช่น เณ ณฺย) ลงแล้ว “ลบ ณ ทิ้งเสีย”
(2) มีอำนาจ “ทีฆะต้นธาตุ” คือธาตุที่มี 2 พยางค์ ถ้าพยางค์แรกเสียงสั้นก็ยืดเป็นเสียงยาว (อะ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็น อู) ในที่นี้ วสฺ ธาตุ “ว” เสียงสั้น จึงยืดเป็น “วา”
: อา + วสฺ = อาวสฺ + ณ = อาวสณ > อาวส > อาวาส แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาอยู่” = มาถึงตรงนั้นแล้วก็อยู่ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาวาส” หมายถึง การพักแรม, การพักอยู่, การอาศัยอยู่, การอยู่; ที่อยู่, ที่พำนัก (sojourn, stay, dwelling, living; dwelling-place, residence)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อาวาส” ไว้ดังนี้ –
“อาวาส : (คำนาม) วัด เช่น เจ้าอาวาส ที่อยู่ เช่น พุทธาวาส (พุทธ + อาวาส) คือ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หมายถึง โบสถ์ วิหาร สังฆาวาส (สังฆ + อาวาส) คือ ที่อยู่ของพระสงฆ์; ผู้ครอบครอง เช่น ฆราวาส (ฆร + อาวาส) คือ ผู้ครอบครองเรือน หรือผู้อยู่ครองเรือน. (ป., ส.).”
ธัมม + อาวาส = ธัมมาวาส แปลว่า “เขตของพระธรรม”
คำว่า “ธัมมาวาส” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
คำว่า “ธัมมาวาส” เป็นคำที่ผู้รู้ในปัจจุบันคิดขึ้นเพื่อให้เข้าชุดกับคำว่า “พุทธาวาส” และ “สังฆาวาส” อันมีมาแต่เดิม เป็นอันว่ามี “อาวาส” ครบทั้ง 3 เขตตามแนวแห่งพระรัตนตรัย
เขต “ธัมมาวาส” ที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ ท่านว่าประกอบด้วยศาลาการเปรียญ หอไตร หอสวดมนต์ เป็นต้น กล่าวคือเป็นเขตที่มีกิจกรรมและกิจวัตรอันเกี่ยวข้องโดยตรงกับกับการสวดธรรม แสดงธรรม บอกกล่าวสั่งสอนธรรม ปฏิบัติธรรม รวมทั้งเป็นที่ประกอบกิจกรรมอันเป็นบุญต่าง ๆ ทั้งของชาววัดและชาวบ้าน
น่าสังเกตว่า หลักเดิมท่านกำหนดให้มี “พุทธาวาส” และ “สังฆาวาส” แต่ไม่มี “ธัมมาวาส”
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
สันนิษฐานว่า แนวคิดเดิมท่านเห็นว่า เขตอารามหรือเขตวัดทั้งหมดนั่นแหละมีฐานะเป็น “ธัมมาวาส” อยู่แล้วในตัว เขต “พุทธาวาส” และ “สังฆาวาส” เป็นแต่กำหนดเฉพาะลงไปในเขตธัมมาวาสนั่นเอง เขต “ธัมมาวาส” โดยเฉพาะจึงไม่ต้องมี
หมายความว่า อารามหรือเขตวัดทั้งหมดนั่นแหละมีฐานะเป็นที่สวดธรรม แสดงธรรม บอกกล่าวสั่งสอนธรรม ปฏิบัติธรรม รวมทั้งเป็นที่ประกอบกิจกรรมอันเป็นบุญต่าง ๆ อยู่แล้วในตัว เป็นการบ่งบอกชัดเจนอยู่ในตัวว่า วัดจะต้องเป็น “ธัมมาวาส” คือสถานที่ประกาศธรรม
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สถานที่ใดไม่มีการสวดธรรม แสดงธรรม บอกกล่าวสั่งสอนธรรม และปฏิบัติธรรม สถานที่นั้นไม่ใช่ “ธัมมาวาส” ซึ่งก็คือ-ไม่ใช่วัดนั่นเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำวัดให้เป็นธัมมาวาส พุทธศาสน์ก็ผ่องใส
: ปล่อยวัดให้เรี่ยราด พุทธศาสน์ก็บรรลัย
#บาลีวันละคำ (4,554)
30-11-67
…………………………….
…………………………….