บาลีวันละคำ

อาสาฬหบูชา (บาลีวันละคำ 784)

อาสาฬหบูชา

ประกอบด้วย อาสาฬห + บูชา

(๑) “อาสาฬห” บาลีเป็น “อาสาฬฺห” (มีจุดใต้ ฬฺ)

อาสาฬฺห” เป็นชื่อหมู่ดาว

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9, ราชบัณฑิต) แสดงความหมายของศัพท์ไว้ว่า –

อาสาฬฺโห  นาม  ภตีนํ  ทณฺโฑ, ตํสณฺฐานตฺตา  อาสาฬฺหา = ดาวที่มีรูปร่างเหมือนไม้คานของคนรับจ้าง

เมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านกลุ่มดาวนี้จึงเรียกชื่อเดือนนั้นว่า “อาสาฬฺห” คือเดือน 8 ทางจันทรคติ ตกราวมิถุนายน – กรกฎาคม

(๒) “บูชา” บาลีเป็น “ปูชา” รากศัพท์ คือ ปูชฺ (ธาตุ = บูชา) + (ปัจจัย) + อา (ปัจจัยอิตถีลิงค์) = ปูชา

ปูชาบูชา หมายถึง การให้เกียรติ, การนับถือ, การแสดงความภักดี (honour, worship, devotional attention)

อาสาฬฺห + ปูชา = อาสาฬฺหปูชา > อาสาฬหบูชา

อาสาฬหบูชา” แปลว่า “การบูชาในเดือน 8” หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ เพื่อรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเป็นการพิเศษ เนื่องในวันที่ (1) พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร (2) ทำให้เกิดมีปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ และ (3) เกิดสังฆรัตนะครบพระรัตนตรัย

ในภาษาไทย มีปัญหาว่า จะอ่านคำ อาสาฬหว่าอย่างไร ?

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนบาลีวันละคำ เห็นว่า “อาสาฬห” ในเสียงเดิมของบาลี น่าจะออกเสียงว่า อา-สา(น)-หฺละ (–สา(น) ออกเสียงกึ่ง สา กึ่ง สาน หรือ-สา-แล้วกระดกปลายลิ้นติดเพดานปาก แล้วจึง -หฺละ)

ไม่ใช่ทั้ง อา-สาน-หะ และ อา-สาน-ละ-หะ แต่เป็น อา-สา(น)-หฺละ

นั่นคือเฉพาะในคำนี้ เป็นตัวสะกดก็จริง แต่ไม่สะกดขาดเสียงเหมือนแม่ กน ในภาษาไทย คือจะมีเสียง ละ กลืนหายลงไปในคอก่อนจะไปถึง หะ

เมื่อรวมเสียง ละ ที่ กับ หะ ที่ เข้าด้วยกันจะได้เสียง –หฺละ ซึ่งน่าจะเป็นเสียงที่แท้จริงของคำว่า อาสาฬห

คำเทียบที่จะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายคือคำว่า “ตุมฺเห” (บางสำนักสะกดเป็น ตุเมฺห)

คำนี้เสียงจริงๆ ไม่ใช่ ตุม-เห หรือ ตุ-มะ-เห แต่คือ ตุม-เหฺม (หม ควบ เหมือนคำว่า เหม่ ในภาษาไทย แต่เป็นเสียงจัตวา)

นี่เป็นเพียงความเห็น แต่ไม่ประสงค์จะชวนให้มาออกเสียงกันใหม่อย่างนี้แต่ประการใด เพราะจะทำให้การอ่านคำนี้เป็นจลาจลมากขึ้น

คำว่า “อาสาฬห” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกคำอ่านไว้ 2 แบบ คือ อ่านว่า อา-สาน-หะ และอ่านว่า อา-สาน-ละ-หะ

มีคำอ่านอีกแบบหนึ่งที่มีคนอ่าน แต่ พจน.54 ไม่ได้บอกไว้ คือ อา-สา-ละ-หะ

สรุปว่า คำว่า “อาสาฬห” มีการอ่านกันจริง 3 แบบ คือ –

(1) อา-สาน-หะ (อ่านแบบรู้ที่มาของคำ)

(2) อา-สาน-ละ-หะ (อ่านแบบรู้ที่มา แต่ยังติดแบบไทยๆ)

(3) อา-สา-ละ-หะ (อ่านเท่าที่ตาเห็นและสะดวกปาก)

ในภาษาไทย หลักตัดสินก็คือ ตัว เมื่อซ้อนอยู่หน้า เป็นตัวสะกดอย่างเดียว ไม่ต้องออกเสียง

คำเทียบที่เห็นได้ชัดคือ

ทัฬหีกรรม (การกระทําให้มั่นคงขึ้น) อ่านว่า ทัน-ฮี-กํา ไม่ใช่ ทัน-ละ-ฮี-กํา

วิรุฬหะ (เจริญ, งอกงาม) อ่านว่า วิ-รุน-หะ ไม่ใช่ วิ-รุน-ละ-หะ

วิรุฬหก (ชื่อท้าวจาตุมหาราชองค์หนึ่ง ประจําทิศทักษิณ) อ่านว่า วิ-รุน-หก ไม่ใช่ วิ-รุน-ละ-หก

ดังนั้น อาสาฬห จึงต้องอ่านว่า อา-สาน-หะ ไม่ใช่ อา-สาน-ละ-หะ

สาเหตุ :-

ทั-” ยังออกเสียงเองไม่ได้ ส่วน “วิรุ-” แม้จะออกเสียงเองได้ แต่ก็ยังชวนให้มองหาตัวสะกดอีก จึงรู้ได้ชัดว่า เป็นตัวสะกด จึงไม่มีใครอ่านว่า ทัน-ละ-ฮี-กำ หรือ วิ-รุน-ละ-หก

แต่ “อาสาฬห” ตรงคำว่า –สา– เมื่ออ่านตามที่ตาเห็น สามารถออกเสียงได้เอง ไม่ทำให้รู้สึกว่า เป็นตัวสะกด จึงอ่านผิดเป็น อา-สา-ละ-หะ หรือ อา-สาน-ละ-หะ ได้ง่าย

: ความนิยม ไม่ได้หมายถึงถูกต้อง

: ความถูกต้อง ก็ไม่ได้หมายถึงจะต้องมีผู้นิยม

—————–

(เนื่องมาจาก Chinapat Koomsorn ถามว่า คำว่า อาสาฬหบูชา ออกเสียงได้กี่แบบ)

#บาลีวันละคำ (784)

11-7-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *