สมณเพศ (บาลีวันละคำ 1,381)
สมณเพศ
อ่านว่า สะ-มะ-นะ-เพด
ประกอบด้วย สมณ + เพศ
(๑) “สมณ”
อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”
(๒) “เพศ”
บาลีเป็น “เวส” (เว-สะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) วิสฺ (ธาตุ = ชอบใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ วิสฺ เป็น เอ (วิสฺ > เวส)
: วิสฺ + ณ = วิสณ > วิส > เวส แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่น่าชอบใจ”
(2) วิสิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ วิ-(สิ) เป็น เอ (วิสิ > เวสิ), ลบสระที่สุดธาตุ (วิสิ > วิส)
: วิสิ + ณ = วิสิณ > วิสิ > วิส > เวส แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เบียดเบียน” (คือทำให้อึดอัด)
“เวส” หมายถึง เครื่องแต่งตัว, เสื้อผ้า; การปลอมตัว, รูปร่าง [ที่ปลอมขึ้น] (dress, apparel; disguise, [assumed] appearance)
“เวส” ที่แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เบียดเบียน” และขยายความว่า “คือทำให้อึดอัด” ก็คือที่หมายถึงการปลอมตัวนี่เอง
“เวส” ในภาษาไทยแผลง ว เป็น พ และ ส เป็น ศ จึงเป็น “เพศ”
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“เพศ : (คำนาม) รูปที่แสดงให้รู้ว่าหญิงหรือชาย; (คำที่ใช้ไวยากรณ์) ประเภทคําในบาลีและสันสกฤตเป็นต้น, ตรงกับ ลิงค์ หรือ ลึงค์; เครื่องแต่งกาย; การประพฤติปฏิบัติตน เช่น สมณเพศ. (ป. เวส; ส. เวษ).”
โปรดสังเกตว่า คำนี้บาลีเป็น “เวส” ส เสือ สันสกฤตเป็น “เวษ” ษ ฤๅษี แต่ภาษาไทยเขียน “เพศ” ศ ศาลา
สมณ + เวส = สมณเวส > สมณเพศ แปลตามศัพท์ว่า “การแต่งตัวเป็นสมณะ” คือการถือเพศเป็นนักบวช
ที่คำว่า “เพศ” พจน.54 บอกความหมายโดยยกคำว่า “สมณเพศ” เป็นตัวอย่าง แต่โปรดทราบว่า คำว่า “สมณเพศ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
……..
ดูก่อนภราดา!
พุทธศาสนิกที่ประเสริฐไม่พึงทำความเลื่อมใสในผู้ทรงสมณเพศให้คลอนแคลน แม้จะรู้ว่า –
: บางคนเป็นพระ แม้จะไม่ได้อยู่ในสมณเพศ
: บางคนเป็นเปรต ทั้งๆ ที่อยู่ในเพศสมณะ
11-3-59