บาลีวันละคำ

สมบัติสาม คำที่ 2 (บาลีวันละคำ 1,517)

สมบัติสาม คำที่ 2

สวรรคสมบัติ / ทิพยสมบัติ

………………………..

คำชุดนี้ ในคัมภีร์ใช้ว่า –

(1) มนุสฺสสมฺปตฺติ (มะ-นุด-สะ-สำ-ปัด-ติ)

(2) ทิพฺพสมฺปตฺติ (ทิบ-พะ-สำ-ปัด-ติ, บางทีใช้ว่า เทวสมฺปตฺติ)

(3) นิพฺพานสมฺปตฺติ (นิบ-พา-นะ-สำ-ปัด-ติ)

………………………..

สวรรคสมบัติ” อ่านตามหลักภาษาว่า สะ-หฺวัน-คะ-สม-บัด

แต่มักอ่านตามสะดวกปากว่า สะ-หฺวัน-สม-บัด

ประกอบด้วย สวรรค + สมบัติ

สวรรค” บาลีเป็น “สคฺค” รากศัพท์มีมาหลายทาง เช่นมาจาก สุ (= ดี, งาม) + อคฺค, ลบ อุ ที่ สุ (สุ > )

อคฺค” มีความหมายว่า เด่น, ยอดเยี่ยม, ดีที่สุด, สูงสุด, สำคัญที่สุด (illustrious, excellent, the best, highest, chief)

: สุ > + อคฺค = สคฺค

สคฺค” (สันสกฤตเป็น สฺวรฺค) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ดำรงอยู่ยืนนานและสวยงาม” “แดนอันแสนดีเลิศล้ำด้วยกามคุณ” “แดนที่มีอารมณ์อันเลิศ” (คือได้พบเห็นสัมผัสแต่สิ่งที่น่าเพลิดเพลินเจริญใจ) “แดนที่ติดข้อง

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สวรรค์” (สะ-หฺวัน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า “โลกของเทวดา, เมืองฟ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล สคฺค ว่า heaven, the next world (สวรรค์, โลกหน้า) แล้วขยายความว่า popularly conceived as a place of happiness and long life (ตามมโนภาพทั่วๆ ไป เข้าใจกันว่าเป็นสถานที่มีควมสุขและมีอายุยืน)

ตามปกติคำว่า “สคฺค” หมายถึง สวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี

แต่ความหมายในวงกว้าง “สคฺค” หมายถึงเทวโลกทุกภพภูมิ

สวรรคสมบัติ” เป็นคำที่นิยมเรียกในภาษาไทย ในคัมภีร์ใช้คำว่า “ทิพฺพสมฺปตฺติ” (ทิบ-พะ-สำ-ปัด-ติ) (ทิพฺพ + สมฺปตฺติ) อีกคำหนึ่ง

(๒) “ทิพฺพ” รากศัพท์มาจาก –

ก) ทิว (แดนฟ้า) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, แปลง วฺว คือ (ทิ)-+-(สฺ) เป็น พฺพ, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (วส > )

: ทิว + วสฺ + กฺวิ = ทิววสฺกฺวิ > ทิวฺวส > ทิวฺว > ทิพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่ในแดนฟ้า

ข) ทิวฺ (ธาตุ = รื่นเริง, สนุกสนาน) + ปัจจัย, แปลง วฺว คือ (ทิ)-วฺ+ ปัจจัย เป็น พฺพ

: ทิวฺ + = ทิวว > ทิพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รื่นเริงด้วยกามคุณห้า

ทิพฺพ” เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เกี่ยวกับโลกหน้า, เกี่ยวกับสวรรค์, เป็นของสวรรค์, ที่อยู่บนฟ้า, ยอด, ดีเลิศ, เหมาะสำหรับสัตว์ที่สูงกว่ามนุษย์, ผู้เหนือมนุษย์ (of the next world, divine, heavenly, celestial, superb, magnificent, fit for exalted beings higher than man, superhuman)

ทิพฺพ” ในบาลีเป็น “ทิพฺย” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทิพฺย : (คำคุณศัพท์) อันเปนทิพย์, อันเปนสัมพันธินแก่เทพดาหรือสวรรค์ชั้นฟ้า; งาม, น่าเอ็นดู, น่ารัก, เป็นที่พอใจ; divine, celestial, heavenly; beautiful, pretty, charming, agreeable; – (คำนาม) ประเวฎหรือยวะ, ข้าวบาร์ลีย์; ทิพยวรรณ; กานพลู; ประติชญา, คำหรือการศบถ; การแสดงหรือพิสูจน์ความสัตย์; barley; the divine character; cloves; an oath; an ordeal.”

ทิพฺพ > ทิพฺย ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทิพย์” พจน.54 บอกไว้ว่า

ทิพย-, ทิพย์ : (คำวิเศษณ์) เป็นของเทวดา เช่น อาหารทิพย์, ดีวิเศษอย่างเทวดา เช่น ตาทิพย์ หูทิพย์, ดีวิเศษเหนือปรกติธรรมดา เช่น เนื้อทิพย์, ใช้ว่า ทิพ ก็มี. (ส. ทิวฺย; ป. ทิพฺพ).”

(๓) “สมบัติ

บาลีเป็น “สมฺปตฺติ” (สำ-ปัด-ติ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปทฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง (ป)-ทฺ เป็น ตฺ

: สํ > สมฺ + ปทฺ = สมฺปทฺ + ติ = สมฺปทฺติ> สมฺปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อม” (คือความสำเร็จ) “ภาวะที่ถึงพร้อม

ขยายความว่า ถึงพร้อมด้วยสิ่งใด หรือบรรลุถึงสิ่งใด ก็เรียกสิ่งนั้นว่า “สมฺปตฺติ

สมฺปตฺติ” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) ความสำเร็จ, การบรรลุ; ความสุข, ความสำราญ, สมบัติ (success, attainment; happiness, bliss, fortune)

(2) ความเลิศลอย, ความดีเด่นหรือสง่างาม(excellency, magnificence)

(3) เกียรติ (honour)

(4) ความรุ่งเรือง, ความสวยสดงดงาม (prosperity, splendor)

สมฺปตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “สมบัติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมบัติ ๑ : (คำนาม) ความถึงพร้อม หมายถึง ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ เป็นต้นที่มีอยู่ เช่น ถึงมีสมบัติมากมายก็ไม่พ้นความตายไป ทำงานมาเกือบ ๒๐ ปี มีสมบัติอย่างเดียวคือบ้าน. (ป., ส. สมฺปตฺติ).”

ในภาษาไทย ความหมายเด่นของ “สมบัติ” ก็คือ ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ แต่ในภาษาบาลี “สมฺปตฺติ” มีความหมายมากกว่านั้น ดูคำแปลภาษาอังกฤษที่ตรงกับความเข้าใจในภาษาไทยมีเพียงคำว่า fortune เท่านั้น คำแปลอื่นๆ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้โดยตรงแต่อย่างใด

สคฺค + สมฺปตฺติ = สคฺคสมฺปตฺติ> สวรรคสมบัติ แปลว่า “ความถึงพร้อมแห่งสวรรค์” หรือ “สมบัติคือสวรรค์

ทิพฺพ + สมฺปตฺติ = ทิพฺพสมฺปตฺติ> ทิพยสมบัติ (ทิบ-พะ-ยะ-สม-บัด) แปลว่า “ความถึงพร้อมอันเป็นของชาวฟ้า” หรือ หรือ “สมบัติอันเป็นทิพย์” (heavenly prosperity)

คนส่วนมากมักเข้าใจไปว่า “สวรรคสมบัติ” ก็คือ เมื่อไปเกิดในสวรรค์แล้วมีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้เหมือนในโลกมนุษย์ แต่เป็นของทิพย์ของวิเศษ คือเข้าใจว่าไปเกิดในสวรรค์แล้วต้องมีสมบัติทิพย์ดังกล่าวนั้นด้วยจึงจะเรียกว่าได้ “สวรรค์สมบัติ” ถ้าไม่มีสมบัติทิพย์ ก็เข้าใจว่าไม่ได้สวรรค์สมบัติ

ความหมายที่ถูกต้องของ “สวรรคสมบัติ” หรือ “ทิพยสมบัติ” ก็คือ “การได้เกิดในสวรรค์” จะเกิดในสวรรค์ชั้นไหน มีของทิพย์ชนิดไหน เป็นไปตามฐานะของสวรรค์ชั้นนั้นๆ ประกอบกับความประณีตของบุญกรรมที่ผู้นั้นทำไว้

แม้ไปเกิดในวิมานที่ว่างเปล่า ไม่มีสมบัติอะไรเลย เพราะทำบุญไม่สมบูรณ์เต็มที่ ก็ชื่อว่าได้ “สวรรค์สมบัติ” แล้วเช่นกัน

: ถ้ารู้จักอิ่มรู้จักพอ กระท่อมซอมซ่อก็เป็นสวรรค์ทันที

: ถ้าไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ กี่สวรรค์ชั้นช่อก็เหมือนนรกอเวจี

30-7-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย