บาลีวันละคำ

กาลามสูตร (บาลีวันละคำ 2481)

กาลามสูตร

เอาไปพูดควรรู้ความหมาย

อ่านว่า กา-ลา-มะ-สูด

ประกอบด้วยคำว่า กาลาม + สูตร

(๑) “กาลาม

บาลีอ่านว่า กา-ลา-มะ คำนี้เป็นวิสามานยนาม (proper name) เป็นชื่อของชนเผ่าหนึ่งหรือวงศ์ตระกูลหนึ่ง เช่นเจ้าสำนักที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปศึกษาในช่วงต้นที่เสด็จออกบรรพชา ชื่อ “อาฬารดาบส กาลามโคตร” และคณะผู้ปกครองเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในคราวหนึ่งเป็นกษัตริย์กาลามะ (กาลามา  นาม  ขตฺติยา)

ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบตำราที่อธิบายความหมายของคำว่า “กาลาม

(๒) “สูตร

บาลีเป็น “สุตฺต” (สุด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สุจ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง จฺ เป็น ตฺ

: สุจฺ + = สุจฺต > สุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยาวออกไป

(2) สุ (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + ปัจจัย ซ้อน ตฺ

: สุ + ตฺ + = สุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “พจนะที่หลั่งเนื้อความออกมา” “พจนะที่ยังเนื้อความให้หลั่งไหลออกมาเหมือนแม่โคหลั่งน้ำนม

(3) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + ตา (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ตา > ), ซ้อน ตฺ

: สุ + ตฺ + ตา = สุตฺตา > สุตฺต + = สุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “พจนะที่รักษาอรรถไว้ด้วยดี

(4) สุจ (ธาตุ = ประกาศ, ให้แจ่มแจ้ง) + ปัจจัย, แปลง จฺ เป็น ตฺ

: สุจฺ + = สุจฺต > สุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “พจนะที่ประกาศเนื้อความ

สุตฺต” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้

(1) ด้าย, เส้นด้าย (a thread, string)

(2) ส่วนของปิฎกทางพุทธศาสนา the (discursive, narrational) part of the Buddhist Scriptures containing the suttas or dialogues, later called Sutta-piṭaka).

(3) หนึ่งในองค์แห่งหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า (หนึ่งในนวังคสัตถุศาสน์) (one of the divisions of the Scriptures)

(4) กฎ, มาตรา (a rule, a clause)

(5) บท, หมวด, คำสนทนา, ข้อความ, ข้อสนทนา (a chapter, division, dialogue, text, discourse)

(6) ฉันท์โบราณ, คำอ้างอิง (an ancient verse, quotation)

(7) หนังสือเกี่ยวกับกฎ, เรื่องราวเก่าๆ, ตำรา (book of rules, lore, text book)

บาลี “สุตฺต” สันสกฤตเป็น “สูตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “สูตฺร” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สูตฺร : (คำนาม) ‘สูตร์,’ ด้ายทั่วไป; วิธี, นิเทศในนีติหรือศาสตร์; พากย์สั้นอันบอกวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งในไวยากรณ์, ตรรกวิทยา, ฯลฯ; มติหรือศาสนบัตร์ในนีติ; thread or string in general; an axiom or a rule, a precept in morals or science; a short sentence intimating some rule in grammar, logic, &c.; an opinion or decree in law.”

ในภาษาไทย “สูตร” มีความหมายหลายอย่างเช่นกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สูตร” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) สูตร ๑ : (คำนาม) กฎสําหรับจดจํา เช่น สูตรคูณ สูตรคณิตศาสตร์; ส่วนประกอบที่กำหนดขึ้นในการปรุงยา อาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น. (ส.; ป. สุตฺต).

(2) สูตร ๒ : (คำนาม) ชื่อหลักธรรมในพระสุตตันตปิฎก เรียกว่า พระสูตร เช่น มงคลสูตร กาลามสูตร; ข้อความทางปรัชญาที่เรียบเรียงร้อยกรอง หรือย่อขึ้นไว้สำหรับท่องจำ เช่น โยคสูตร นยายสูตร สูตรสนธิ.

(3) สูตร ๓ : (คำนาม) มุ้ง, ม่าน, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสูตร หรือ พระวิสูตร.

กาลาม + สูตร = กาลามสูตร แปลว่า “พระสูตรที่ตรัสแก่ชาวกาลามะ

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “กาลามสูตร” บอกไว้ดังนี้ –

กาลามสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาตอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนชนชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคมในแคว้นโกศล ไม่ให้เชื่องมงายไร้เหตุผล ตามหลัก ๑๐ ข้อ คือ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา, ด้วยการถือสืบๆ กันมา, ด้วยการเล่าลือ, ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์, ด้วยตรรก, ด้วยการอนุมาน, ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล, เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน, เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ, เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา; ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตติยสูตร หรือ เกสปุตตสูตร.”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] แสดงรายละเอียดในกาลามสูตรไว้ดังนี้ –

กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 (หมายถึง วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ ที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร — Kālāmasutta-kaṅkhāniyaṭṭhāna: how to deal with doubtful matters; advice on how to investigate a doctrine, as contained in the Kālāmasutta)

1. มา อนุสฺสเวน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา — Be not led by report)

2. มา ปรมฺปราย (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา — Be not led by tradition)

3. มา อิติกิราย (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ — Be not led by hearsay)

4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ — Be not led by the authority of texts)

5. มา ตกฺกเหตุ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก — Be not led by mere logic)

6. มา นยเหตุ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน — Be not led by inference)

7. มา อาการปริวิตกฺเกน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล — Be not led by considering appearances)

8. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว — Be not led by the agreement with a considered and approved theory)

9. มา ภพฺพรูปตาย (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ — Be not led by seeming possibilities)

10. มา สมโณ โน ครูติ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา — Be not led by the idea, ‘This is our teacher’.)

ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น

สูตรนี้ ในบาลีเรียกว่า เกสปุตติยสูตร ที่ชื่อกาลามสูตร เพราะทรงแสดงแก่ชนเผ่ากาลามะแห่งวรรณะกษัตริย์ ที่ชื่อเกสปุตติยสูตร เพราะพวกกาลามะนั้นเป็นชาวเกสปุตตนิคม

……………….

อภิปราย :

ควรทราบว่า พระสูตรนี้ในพระไตรปิฎกไม่ได้ชื่อ “กาลามสูตร” (กาลามสุตฺต) คำว่า “กาลามสูตร” เป็นชื่อที่นิยมเรียกกันในภายหลัง

พระสูตรนี้ออกเสียงว่า กา – ลา – มะ – สูด ไม่ใช่ กา-ละ-มะ-สูด หรือ กะ-ลา-มะ-สูด อย่างที่บางคนเรียกกันเพลินปากไป

คนส่วนมากนิยมยกคำว่า “กาลามสูตร” ไปอ้างโดยบอกว่า พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่น พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อตำรา พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อครู เป็นต้น

การพูดเช่นนั้นไม่ถูกต้อง

ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนว่า อย่าเชื่ออะไรง่ายเพียงแค่อ้างว่า เขาเขียนไว้ในตำราจึงต้องเชื่อ คนนี้เป็นครูบาอาจารย์จึงต้องเชื่อ โดยตรัสถึงตัวอย่างที่คนชอบยกขึ้นมาอ้างไว้ 10 ข้อ ว่าอย่าอ้างแบบนี้

สาระของ “กาลามสูตร” มีอยู่ 3 ตอน คือ –

๑ อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ

๒ ต้องเชื่ออย่างมีหลัก

๓ เชื่ออย่างมีหลักแล้วดีอย่างไร

ที่เอาไปอ้างกันนั้น จับเอาตอนแรกไปพูดกันตอนเดียวเหมือนกับว่าทั้งหมดของกาลามสูตรมีอยู่แค่นั้น

หนังสือ พุทธธรรม งานนิพนธ์ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต กล่าวไว้ว่า –

……………….

อนึ่ง ไม่พึงแปลความเลยเถิดไปว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อสิ่งเหล่านี้ และให้เชื่อสิ่งอื่นนอกจากนี้ แต่พึงเข้าใจว่า แม้แต่สิ่งเหล่านี้ซึ่งบางอย่างก็เลือกเอามาแล้วว่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อที่สุด ท่านก็ยังเตือนไม่ให้ปลงใจเชื่อ ไม่ให้ด่วนเชื่อ ไม่ให้ถือเป็นเครื่องตัดสินเด็ดขาด ยังอาจผิดพลาดได้  ต้องใช้ปัญญาพิจารณาก่อน ก็ขนาดสิ่งที่น่าเชื่อที่สุดแล้ว ท่านยังให้คิดให้พิจารณาให้ดีก่อน สิ่งอื่นคนอื่น เราจะต้องคิดต้องพิจารณาระมัดระวังให้มากสักเพียงไหน

ที่มา: เชิงอรรถ พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ (พ.ศ.2525) หน้า 651

…………..

แถม :

ก่อนการเลือกตั้ง เราได้ฟังนักการเมืองเอ่ยอ้างถึงสิ่งที่เขาจะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

บัดนี้ เลือกตั้งผ่านไปแล้ว เราจงมาช่วยกันจับตาดูว่าพวกเขากำลังทำอะไร และเพื่อประโยชน์ของใคร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าเชื่อคำที่เขาพูด

: แต่จงพิสูจน์ด้วยสิ่งที่เขากำลังทำ

#บาลีวันละคำ (2,481)

29-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *