ชินราช (บาลีวันละคำ 1,567)
ชินราช
พระพุทธชินราช แปลว่าอะไร
ภาษาไทยอ่านว่า ชิน-นะ-ราด
ภาษาบาลีอ่านว่า ชิ-นะ-รา-ชะ
ประกอบด้วย ชิน + ราช
(๑) “ชิน”
บาลีอ่านว่า ชิ-นะ รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ชิ + ยุ > อน = ชิน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ชนะ” (2) “ผู้ชนะบาปอกุศลธรรม” หมายถึง พิชิต, มีชัย (conquering, victorious)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ระบุไว้ว่า often of the Buddha, “Victor” (มักใช้เป็นพระคุณนามของพระพุทธเจ้า มีความหมายว่า “พระผู้มีชัย”)
(๒) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ ปัจจัย
: ราชฺ + อ = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา
: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อ้างกระบวนการกระจายคำเพื่อหาความหมายว่า “dhammena pare rañjetī ti rājā. = he gladdens others with his righteousness”. (“ธมฺเมน ปเร รญฺเชตีติ ราชา = เขาทำให้ผู้อื่นยินดีด้วยความเป็นธรรมของเขา”)
และแปล “ราชา” ว่า king, a ruling potentate (พระราชา, เจ้านายผู้ปกครอง)
ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
ชิน + ราช = ชินราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เพียงดังว่าพระราชาผู้พิชิต” ตรงกับที่ภาษาไทยนิยมใช้ว่า “พระชินเจ้า”
“ชินราช” เป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้าในลักษณะเป็นพระคุณนาม
ในเมืองไทยมีพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามวิเศษองค์หนึ่ง ชื่อ “พระพุทธชินราช” ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก
พระนาม “พระพุทธชินราช” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าผู้ชนะมารปานประหนึ่งพระราชาผู้พิชิต” (the Buddha: the victorious king)
………….
: ถึงจะแพ้สิบทิศก็ไม่เป็นไร
: ขอเพียงชนะใจตัวเอง
18-9-59