บาลีวันละคำ

อนุญาต (บาลีวันละคำ 2,358)

อนุญาต ทำไมจึงไม่มีสระ อิ

คนส่วนหนึ่งมักเขียนคำว่า “อนุญาต” (-ญา เต่า ไม่ต้องมีสระ อิ ซึ่งเป็นคำที่ถูกต้อง) เป็น “อนุญาติ” (-ญาติ เต่า มีสระ อิ ซึ่งเป็นคำที่ผิด) เพราะเคยชินกับคำว่า “ญาติ

ถ้าถามว่า “อนุญาต” ทำไมจึงไม่ต้องมีสระ อิ คนส่วนมากจะไม่ทราบเหตุผล บางคนอาจตอบว่า เพราะพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้เขียนอย่างนั้น

ถ้าถามต่อไปว่า ทำไมพจนานุกรมฯ กำหนดให้เขียนอย่างนั้น คนส่วนมากคงจะไม่ทราบเหตุผล

เหตุผลที่ “อนุญาต” -ญา เต่า ไม่ต้องมีสระ อิ เป็นเหตุผลทางหลักภาษาบาลี ซึ่งอาจสรุปสั้นๆ ไว้ทีหนึ่งก่อนว่า

อนุญาต” เป็นคำกริยา

ญาติ” เป็นคำนาม

สะกดคนละอย่างกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อนุญาต : (คำกริยา) ยินยอม, ยอมให้, ตกลง. (ป. อนุญฺญาต).

(2) ญาติ, ญาติ– : (คำนาม) คนในวงศ์วานที่ยังนับรู้กันได้ทางเชื้อสายฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่. (ป.).

รากศัพท์ :

(๑) “อนุญาต” (อะ-นุ-ยาด)

บาลีเป็น “อนุญฺญาต” (อะ-นุน-ยา-ตะ, มี ญฺ สะกดอีกตัวหนึ่ง) เป็นคำกริยาประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “กิริยากิตก์” คู่กับ “กิริยาอาขยาต” รากศัพท์มาจาก อนุ + ญฺ + ญาต

(ก) “อนุ” (อะ-นุ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

นักเรียนบาลีท่องกันมาว่า “อนุ = น้อย, ภายหลัง, ตาม

(ข) “ญาต” (ยา-ตะ) รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย

-ปัจจัยนี้เมื่อประกอบหลังธาตุ ทำให้คำนั้นมีฐานะเป็นคำกริยา

: ญา + = ญาต แปลตามศัพท์ว่า “อัน-รู้แล้ว” หมายถึง สิ่งที่ถูกรู้, เรื่องที่รับรู้

อนุ + ญฺ + ญาต = อนุญฺญาต แปลว่า “อัน-ตามรู้แล้ว” “อัน-รู้แล้วภายหลัง” หมายถึง มีกิจ มีความประสงค์ มีเรื่องราวอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นก่อน แล้วมีผู้ตามไปรับรู้ทีหลัง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุญฺญาต” ว่า permitted, allowed; sanctioned, given leave, ordained (ได้รับอนุญาต, ได้รับอนุมัติ, ได้รับการยินยอม, ได้รับอนุญาตให้ไป, ได้รับอนุญาตให้บวช)

โปรดสังเกตว่า คำเดิมในภาษาบาลีเป็น –ญาต ไม่ใช่ –ญาติ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเขียน “อนุญาต” (-ญา เต่า ไม่ต้องมีสระ อิ) ไม่ใช่ “อนุญาติ

(๒) “ญาติ” (ยาด)

บาลีอ่านว่า ยา-ติ รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย

ติ-ปัจจัยนี้เมื่อประกอบหลังธาตุ ทำให้คำนั้นมีฐานะเป็นคำนาม

: ญา + ติ = ญาติ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขารู้กันว่าเป็นใคร” หมายถึง ญาติ, พี่น้อง (a relation, relative)

จะเห็นได้ว่า “ญาติ” เป็นคนละคำกับ “อนุญาต

เมื่อเขียนคำว่า “อนุญาต” จึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำว่า “ญาติ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเขียน “อนุญาต” (-ญา เต่า ไม่ต้องมีสระ อิ) ไม่ใช่ “อนุญาติ

สำหรับคนทั่วไป อาจต้องใช้วิธีจำอย่างเดียว คือจำว่า “อนุญาต” -ญา เต่า ไม่ต้องมีสระ อิ ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องรู้เหตุผล

แต่ถ้ารู้เหตุผลด้วย ก็จะช่วยให้เขียนถูกด้วย และมั่นใจได้ด้วยว่าทำไม “อนุญาต” จึงถูกต้อง และทำไม “อนุญาติ” จึงผิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความรักอาจไม่ต้องการเหตุผล

: แต่การเข้าใจเหตุผลต้องมีใจรัก

#บาลีวันละคำ (2,358)

26-11-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *