บาลีวันละคำ

วรรณกรรม (บาลีวันละคำ 2,678)

วรรณกรรม

คนระยำก็สร้างได้

อ่านว่า วัน-นะ-กำ

ประกอบด้วยคำว่า วรรณ + กรรม

(๑) “วรรณ

บาลีเป็น “วณฺณ” อ่านว่า วัน-นะ รากศัพท์มาจาก วณฺณ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + ปัจจัย

: วณฺณ + = วณฺณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องประกาศเนื้อความ

วณฺณ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :

(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)

(1) สี (colour)

(2) รูปร่าง (appearance)

(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)

(4) ความงาม (beauty)

(5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)

(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)

(7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)

(8) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)

(9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)

(10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)

(11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)

ในที่นี้ “วณฺณ” มีความหมายตามนัยแห่งข้อ (8) และข้อ (10)

บาลี “วณฺณ” สันสกฤตเป็น “วรฺณ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วรฺณ : (คำนาม) ‘วรรณ,’ ชาติ, วรรค, จำพวก, พวก; สี; เครื่องตกแต่งช้าง; ลักษณะ, คุณสมบัติ; เกียรติ, ประสิทธิ; สดุดี; สุวรรณ; พรต; การจัดเพลงหรือกาพย์; ราคินีหรือคีตวิธา; โศภา, ความงาม; เครื่องแต่งตัวลคร; สุคนธ์; อักษร; รูป, ทรง; เภท, ประเภท; a trible, a class, caste, an order; colour, tint; an elephant’s housings, quality, property; fame, celebrity; praise; gold; religious observance; the arrangement of a song or poem; a musical mode; beauty, luster; theatrical dress or embellishment; perfume; a letter of the alphabet; form; figure; sort, kind.”

ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “วรรณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วรรณ-, วรรณะ : (คำนาม) สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี, มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ; ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ; ชั้นชน, ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร; หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).”

(๒) “กรรม

บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺมมนฺ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม

กมฺม” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ) ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (กรฺ > ) และ ที่ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” หมายถึง การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

วรรณ + กรรม = วรรณกรรม แปลตามศัพท์ว่า “การทำเนื้อความ

วรรณกรรม” แปลงกลับเป็นบาลีเป็น “วณฺณกมฺม” (วัน-นะ-กำ-มะ) ยังไม่พบรูปศัพท์เช่นนี้ในคัมภีร์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วรรณกรรม” ไว้ว่า –

วรรณกรรม : (คำนาม) งานหนังสือ, งานประพันธ์, บทประพันธ์ทุกชนิดทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง, เช่น วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมของเสฐียรโกเศศ วรรณกรรมฝรั่งเศส วรรณกรรมประเภทสื่อสารมวลชน.”

วรรณกรรม” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า literature

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล literature เป็นบาลีดังนี้:

(1) sāhicca สาหิจฺจ (สา-หิด-จะ) = ถ้อยแถลง

(2) ganthasamūha คนฺถสมูห (คัน-ถะ-สะ-มู-หะ) = แหล่งรวมถ้อยคำ

(3) ganthāvali คนฺถาวลิ (คัน-ถา-วะ-ลิ) = เรียงถ้อยร้อยคำ

ในภาษาไทย คำที่มีความหมายทำนองเดียวกับ “วรรณกรรม” คือ “วรรณคดี” (วัน-นะ-คะ-ดี) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วรรณคดี : (คำนาม) วรรณกรรมที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดีมีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ถึงขนาด เช่น พระราชพิธีสิบสองเดือน มัทนะพาธา สามก๊ก เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเลวอาจลวงมนุษย์ด้วยคำหวานได้

: แต่ลวงนรกไม่ได้

#บาลีวันละคำ (2,678)

12-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย