ศาสตราจารย์

บาลีวันละคำ

ศาสตราจารย์ (บาลีวันละคำ 747)

ศาสตราจารย์
(บาลีไทย)
อ่านว่า สาด-ตฺรา-จาน ก็ได้ สาด-สะ-ตฺรา-จาน ก็ได้
(ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554)
ประกอบด้วย ศาสตรา + อาจารย์
เทียบบาลีเป็น สตฺถ + อาจริย
“สตฺถ” ในบาลีมีคำแปลดังนี้ –
(1) “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)
(2) “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)
(3) “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชา หรือ ระบบวิชาความรู้. ใช้ในภาษาไทยว่า “ศาสตร์” (science, art, lore)
ในคำว่า “ศาสตราจารย์” นี้ สตฺถ มีความหมายตามข้อ (3) คือ “ศาสตร์”
“อาจริย” รากศัพท์ประกอบด้วย อา + จรฺ + อิย = อาจริย
อา – เป็นคำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง และเป็นคำแทนคำว่า “อาทิ” = แต่เดิม, เริ่มแรก และ “อาทร” (อา-ทะ-ระ) = เอาใจใส่, ให้ความสำคัญ
จรฺ – เป็นธาตุ (รากศัพท์) = ประพฤติ, บำเพ็ญ, ศึกษา
อิย – เป็นปัจจัย = พึง, ควร

Read More