เจ้ากรรมนายเวร

บาลีวันละคำ

เจ้ากรรมนายเวร (บาลีวันละคำ 779)

เจ้ากรรมนายเวร
บาลีว่าอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“เจ้ากรรมนายเวร : ผู้เคยมีกรรมมีเวรต่อกันมาแต่ชาติก่อน, เจ้ากรรม ก็ว่า”

“เจ้ากรรมนายเวร” ตามความรู้สึกหรือความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง สิ่งที่มักจะไม่มีตัวตน แต่มีอำนาจบันดาลให้เกิดโทษ เกิดทุกข์ เกิดปัญหาต่างๆ

เคยพบในบทแผ่เมตตา มีคำว่า “เวรี” มีคำแปลว่า “เจ้ากรรมนายเวร”

“เวรี” มาจากคำว่า เวร (เว-ระ) + อี ปัจจัย

“เวร” แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่เป็นไปโดยอาการผิดรูป” คือเจตนาปองร้ายอันน่ารังเกียจ
(2) “อารมณ์ที่มีอยู่ในผู้กล้าโดยมาก” (ผู้จองเวรคือผู้กล้าที่จะเสีย)

“เวร” แปลตามความหมายว่า ความเกลียด, ความพยาบาท, การเป็นปรปักษ์, ความโกรธ, ความปองร้าย, ความยินร้าย, ความแค้นเคือง, ความคิดร้ายตอบแก่ผู้ทำร้าย, บาป, อกุศล (hatred, revenge, hostile action, sin)

เวร + อี = เวรี แปลว่า “ผู้มีความยินร้ายต่อกัน” หมายถึง ข้าศึก, ศัตรู, ผู้จองเวรกัน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เวรี” เป็นอังกฤษว่า bearing hostility, inimical, revengeful (เป็นศัตรู, เป็นปฏิปักษ์, ผูกพยาบาท)

“เวรี” สันสกฤตเป็น “ไวรี” ภาษาไทยใช้เป็น “ไพรี”

Read More