บาลีวันละคำ

หัตถศาสตร์ (บาลีวันละคำ 3,027)

หัตถศาสตร์

อาจไม่ใช่วิชาที่คุณคิด

อ่านว่า หัด-ถะ-สาด

ประกอบด้วยคำว่า หัตถ + ศาสตร์

(๑) “หัตถ

บาลีเป็น “หตฺถ” (หัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง) + ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หสฺ > หตฺ)

: หสฺ + = หสฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องเล่นสนุก” (เช่นใช้ปรบ ฟ้อนรำ) = มือ “อวัยวะเป็นที่เล่นสนุก” = ศอก

(2) หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หนฺ > หตฺ)

: หนฺ + = หนฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องเบียดเบียนอวัยวะอื่น” (เช่นเกา ตบตี) = มือ (2) “เป็นที่ไปถึงแห่งอวัยวะทั้งหลาย” (หมายถึงมือเอื้อมถึง) = มวยผม

(3) หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หรฺ > หตฺ)

: หรฺ + = หรฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำของไป” = มือ

(4) หตฺถ (มือ) + ปัจจัย, ลบ

: หตฺถ + = หตฺถณ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่เหมือนมือเพราะทำหน้าที่มือให้สำเร็จประโยชน์ได้” = งวงช้าง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หตฺถ” ดังนี้ –

(1) hand (มือ)

(2) the hand as measure, a cubit (มือในฐานเป็นเครื่องวัด, ระยะหนึ่งศอก)

(3) a handful, a tuft of hair (เต็มมือ, ปอยผม)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หัตถ-, หัตถ์ : (คำนาม) มือ; ศอกหนึ่ง; งวงช้าง. (ป.; ส. หสฺต).”

(๒) “ศาสตร์

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ

: สสฺ + = สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)

(2) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ตฺ

: สรฺ + = สรฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)

(3) สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อะ (สาสฺ > สสฺ), แปลง สฺ เป็น ตฺ

: สาสฺ + = สาสฺถ > สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชาความรู้ (science, art, lore)

ศาสตร” มีความหมาย 2 อย่าง คือ

(ก) หมายถึง “ของมีคม” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (1) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศสฺตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศัสตระ,’ อายุธ, อาวุธทั่วไป; เหล็ก; เหล็กกล้า; ดาพ, กระบี่; มีด, พร้า; a weapon in general, iron; steel; a sword; a knife.”

ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศัสตรา” และ “ศาสตรา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ศัสตรา, ศัสตราวุธ : (คำนาม) ของมีคมเป็นเครื่องฟันแทง, อาวุธต่าง ๆ. (ส.).

(2) ศาสตรา : (คำนาม) ศัสตรา.

(ข) หมายถึง “วิชาความรู้” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (3) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศาสฺตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศาสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศาสตร์’ คำสั่งหรือบัญชา; เวท, วิทยา, ธรรมศาสตร์, กฎหมาย; หนังสือทั่วไป; an order or command; scripture or Veda, science, institutes of religion, law; a book in general.”

ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศาสตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศาสตร-, ศาสตร์ : (คำนาม) ระบบวิชาความรู้, มักใช้ประกอบหลังคําอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์. (ส.).”

หัตถ + ศาสตร์ = หัตถศาสตร์ แปลว่าอะไร หมายถึงอะไร?

ถ้าเอาคำว่า “หัตถกรรม” มาเทียบ พจนานุกรมฯ บอกว่า “หัตถกรรม” คือ “งานช่างที่ทำด้วยมือ โดยถือประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก

ถ้าเอาคำว่า “หัตถศึกษา” มาเทียบ พจนานุกรมฯ บอกว่า “หัตถศึกษา” คือ “การศึกษาที่เน้นในเรื่องการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ด้วยมือ

ถ้าเอาคำว่า “หัตถศิลป์” มาเทียบ พจนานุกรมฯ บอกว่า “หัตถศิลป์” คือ “ศิลปะในการผลิตสิ่งต่าง ๆ ด้วยมือ โดยถือความงามเป็นหลัก

แต่พอมาถึง “หัตถศาสตร์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หัตถศาสตร์ : (คำนาม) วิชาเกี่ยวกับการทำนายจากเส้นลายมือ.”

จะเห็นได้ว่า ไปคนละเรื่องเหมือนอยู่คนละโลกไปเลย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าอ่านคำเพียงแปลได้เป็นเหตุเป็นผล

: อย่าอ่านคนเพียงพูดแล้วฟังเป็นหลักเป็นฐาน

#บาลีวันละคำ (3,027)

25-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย