ภิกฺขุนีนโมวาโท (บาลีวันละคำ 4,082)
ภิกฺขุนีนโมวาโท
คำที่ตาเห็นกับคำที่เป็นจริง
อ่านว่า พิก-ขุ-นี-นะ-โม-วา-โท
“ภิกฺขุนีนโมวาโท” เป็นรูปคำบาลีตรงๆ ไม่ใช่คำที่ใช้ในภาษาไทย แต่เมื่อแยกศัพท์ ก็จะเป็นคำที่มีใช้ในภาษาไทยหรือมีในพจนานุกรม
“ภิกฺขุนีนโมวาโท” ถ้ามองรูปคำเท่าที่ตาเห็น ชวนให้เข้าใจว่ามีคำว่า “ภิกขุนี” คำว่า “นโม” และคำว่า “วาโท”
(๑) “ภิกขุนี” เป็นคำที่เราอาจจะไม่คุ้น แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้ บอกไว้ว่า –
“ภิกขุนี : (คำนาม) ภิกษุณี. (ป.; ส. ภิกฺษุณี)”
ตามไปดูที่คำว่า “ภิกษุณี” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“ภิกษุณี : (คำนาม) หญิงที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา. (ส.; ป. ภิกฺขุนี).”
(๒) คำว่า “นโม” บาลีแปลว่า “ความนอบน้อม” กิริยาที่คุ้นตาคือ “ไหว้” นั่นแหละคือความหมายของ “นโม” เราคุ้นกันมาก พูดติดปากตั้งเล็กจนโต ทำกันเป็นตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ แต่เชื่อหรือไม่ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่เก็บคำนี้ไว้ ไม่ว่าจะเป็น “นโม” หรือ “นะโม” ก็ไม่ได้เก็บ นับว่าเป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่งของพจนานุกรมฯ
แปลกตรงที่ว่า คำที่ไม่คุ้นเท่าไรอย่าง “ภิกขุนี” มีเก็บในพจนานุกรมฯ แต่คำที่คุ้นอย่างยิ่งอย่าง “นโม” กลับไม่มีเก็บในพจนานุกรมฯ
(๓) “วาโท” คำนี้ก็ไม่มีเก็บในพจนานุกรมฯ แต่น่าจะพอระลึกได้ว่าน่าจะเป็นคำเดียวกับ “วาท”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้ บอกไว้ว่า –
“วาท, วาท– : (คำนาม) คําพูด, ถ้อยคํา; ลัทธิ, ความเห็น. (ป., ส.).”
“วาท” นั่นเอง ลงวิภัตติปัจจัย (บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย-ตามที่รู้กัน) เปลี่ยนรูปเป็น “วาโท”
เป็นอันว่า “ภิกฺขุนีนโมวาโท” คำที่ตาเห็นคือ ภิกขุนี + นโม + วาโท
แต่คำที่เป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น!
คำที่เป็นจริงคือ คือ ภิกขุนีนํ + โอวาโท
“ภิกฺขุนี” ที่ตาเห็น คำเต็มๆ คือ “ภิกฺขุนีนํ” (พิก-ขุ-นี-นัง) รูปคำเดิมคือ “ภิกฺขุนี” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) พหุวจนะ อิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ภิกฺขุนีนํ” แปลว่า “แก่ภิกษุณีทั้งหลาย”
“โอวาโท” รูปคำเดิมคือ “โอวาท” ที่เราคุ้นกันดี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้ บอกไว้ว่า –
“โอวาท : (คำนาม) คําแนะนํา, คําตักเตือน, คํากล่าวสอน. (ป.).”
ภิกขุนีนํ + โอวาโท
๑ แปลงนิคหิตที่ –นํ เป็น ม = ภิกฺขุนีนม
๒ –ม สนธิกับ โอ-(วาท) : ม + โอ = โม
๓ ภิกฺขุนีนม + โอวาโท = ภิกฺขุนีนโมวาโท
ภิกฺขุนีนโมวาโท > ภิกขุนีนํ โอวาโท แปลว่า “การกล่าวสอนภิกษุณีทั้งหลาย”
เมื่อแยกศัพท์แล้ว ก็ไม่มีคำว่า “นโม” ที่ตาเห็นอยู่ในคำนี้
นี่คือลีลาของบาลี ผู้ที่เรียนบาลีเท่านั้นจึงจะรู้ และจึงจะไม่ถูกรูปคำที่ตาเห็นหลอกเอาได้
ขยายความ :
“ภิกฺขุนีนโมวาโท” การกล่าวสอนภิกษุณี หรือการให้โอวาทภิกษุณี เป็นบุพกิจอย่างหนึ่งที่ต้องทำก่อนที่พระสงฆ์จะสวดพระปาติโมกข์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำหลอกคนที่ไม่รู้จักคำ
: ข่าวหลอกคนที่ไม่รู้จักคิด
#บาลีวันละคำ (4,082)
16-8-66
…………………………….
…………………………….