บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อ่านภาษา อ่านนิสัย

อ่านภาษา อ่านนิสัย

———————

มีคำที่เรานิยมพูดกันอยู่คำหนึ่ง คือ “มลภาวะ” ออกเสียงว่า มน-ละ-พา-วะ

เป็นที่เข้าใจกันว่า คำว่า “มลภาวะ” นี้ผู้พูดต้องการให้หมายถึงคำอังกฤษว่า pollution 

คำว่า pollution ทางราชการคือราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสภา) ได้บัญญัติศัพท์ในภาษาไทยว่า “มลพิษ” “ภาวะมลพิษ” และ “การก่อมลพิษ” (ดูภาพประกอบ) 

ทั้ง ๓ คำนี้มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เพียงคำเดียวคือ “มลพิษ” บอกไว้ดังนี้ –

มลพิษ : (คำนาม) พิษเกิดจากความมัวหมองหรือความสกปรกของสิ่งแวดล้อม เช่นในอากาศหรือในน้ำเป็นต้น. (อ. pollution).”

ส่วนคำว่า “ภาวะมลพิษ” และ “การก่อมลพิษ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง “มลพิษ” “ภาวะมลพิษ” และ “การก่อมลพิษ” ไม่ค่อยมีคนใช้มากนัก จะว่าไม่มีใครใช้ตามที่บัญญัติศัพท์ไว้เลยก็แทบจะว่าได้ 

ที่เห็นใช้กันมากคือ “มลภาวะ” ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีในรายการศัพท์ที่บัญญัติขึ้นจากคำว่า pollution และก็ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ ด้วย

ดูตามหลักฐานปรากฏว่า ทั้ง ๓ คำนี้บัญญัติไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๔ แต่ดูประหนึ่งว่าคนไทยทั้งหลายจะไม่ได้สนใจใคร่รู้แต่ประการใดทั้งสิ้นว่าคำอังกฤษว่า pollution ทางราชการได้บัญญัติศัพท์ในภาษาไทยว่าอะไร 

เราพอใจที่จะใช้-ตามที่มีผู้นิยมใช้กัน-ว่า “มลภาวะ” อยู่นั่นแล้ว

ในกรณีที่ได้เห็นแล้วว่าบัญญัติให้ใช้คำว่าอะไร แต่ไม่ชอบคำเหล่านั้น หากแต่ชอบคำนี้มากกว่า วิธีปฏิบัติของผู้เจริญแล้วก็คือเสนอความเห็นพร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ-ซึ่งในกรณีนี้ก็คือราชบัณฑิตยสภา

ตัวอย่างเช่น ขอให้ใช้คำว่า “มลภาวะ” เมื่อหมายถึงคำอังกฤษว่า pollution เป็นต้น

เมื่อเสนอความเห็นไปแล้ว ผู้เสนอจะขอเข้าไปถกเถียงแถลงเหตุผลด้วยตนเองด้วยก็ย่อมได้ 

เมื่อผู้รับผิดชอบจำนนด้วยเหตุผล ยอมตกลงให้ใช้คำว่า “มลภาวะ” ได้ตามข้อเสนอ คราวนี้เราก็พร้อมใจกันใช้คำนั้นได้ด้วยความสบายใจ

แต่คนไทยดูจะไม่มีความสุขที่จะทำตามวิธีการดังว่านี้ หากแต่พอใจที่จะทำตามที่ตนพอใจมากกว่า

“พอใจที่จะทำตามที่ตนพอใจ” นอกจากเรื่องภาษาแล้ว แม้เรื่องวัฒนธรรมประเพณี ระเบียบ กติกามารยาทสังคม โดยเฉพาะหลักคำสอนในพระศาสนา เราก็มีทีท่าอาการทำนองเดียวกัน 

คือ มักไม่ศึกษาเรียนรู้ว่าหลักการและหลักปฏิบัติที่ถูกต้องคืออย่างไร แต่พอใจที่จะเชื่อตามที่ตนเข้าใจ และพอใจที่จะทำตามที่ตนพอใจ

เรื่องเดียวกัน หลักเดียวกัน แทนที่จะทำให้ตรงกัน เราก็ต่างคนต่างทำกันเปรอะไปหมด

………………….

ศึกษาหลักเดิมให้เข้าใจชัดเจนก่อน

ด้วยการอ่าน ค้นคว้า สอบถาม ซักถาม ไต่ถาม ฯลฯ 

ทำได้ตั้งหลายวิธี

ยิ่งสมัยนี้มีกลไกไฮเทคเข้าช่วย การศึกษาหาความรู้ยิ่งทำได้ง่ายขึ้น กว้างขวางขึ้น รวดเร็วขึ้น

เรื่องอะไรที่ยังไม่แน่ใจ อย่าทำตามกันแล้วอ้างว่าที่ไหนๆ เขาก็ทำกันอย่างนี้

ได้ความรู้ชัดแล้วจึงปฏิบัติให้ถูกตามหลักในเรื่องนั้นๆ 

………………….

ของเก่าก็ไม่ศึกษาให้เข้าใจ

ของใหม่ก็ทำกันตามใจชอบ

จะมีสมบัติอะไรส่งมอบให้ลูกหลานเรา?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

๑๗:๓๔

…………………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *