ชโลทร (บาลีวันละคำ 4,083)
ชโลทร
มาจากคำอะไรกันแน่
อ่านว่า ชะ-โล-ทอน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชโลทร : (คำนาม) แม่นํ้า, ทะเล, ห้วงนํ้า, ท้องนํ้า. (ป., ส. ชล + อุทร).”
ตามพจนานุกรมฯ “ชโลทร” มาจากคำว่า ชล + อุทร
(๑) “ชล”
บาลีอ่านว่า ชะ-ละ รากศัพท์มาจาก ชลฺ (ธาตุ = ผูกรัด; ไหลไป; รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย
: ชลฺ + อ = ชล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ผูกรัด” (คือบีบทำให้เรือแตกได้) (2) “สิ่งที่ไหลไป” (3) “สิ่งที่รุ่งเรือง” (คือระยิบระยับยามค่ำคืน) หมายถึง น้ำ (water)
บาลี “ชล” สันสกฤตก็เป็น “ชล”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ชล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ชล : (คำวิเศษณ์) เยือกเย็นหรืออนภิลาษ; สถุล; เฉื่อยชา, ไม่มีอุตสาหะ; เกียจคร้าน; cold; stupid; apathetic; idiotic; – (คำนาม) น้ำ; วิราค, เสนหาภาพ, ความเฉื่อยชาหรือความไม่มีเสนหา; water; frigidity; coldness, want of animation or coldness of affection.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชล, ชล– : (คำนาม) นํ้า. (ป., ส.).”
(๒) “อุทร”
บาลีอ่านว่า อุ-ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, บน, นอก) + ทรฺ (ธาตุ = ไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: อุ + ทรฺ = อุทรฺ + อ = อุทรฺ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นที่เดินขึ้นข้างบนแห่งลม”
“อุทร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ท้อง, กระเพาะอาหาร (the belly, stomach)
(2) ช่อง, ภายใน, ข้างใน (cavity, interior, inside)
“อุทร” ในภาษาไทยอ่านว่า อุ-ทอน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“อุทร : (คำนาม) ท้อง. (ป., ส.).”
ชล + อุทร แผลง อุ ที่ อุ-(ทร) เป็น โอ (อุทร > โอทร)
: ชล + อุทร = ชลุทรฺ > ชโลทร แปลตามศัพท์ว่า “ท้องแห่งน้ำ” เรียกสั้นๆ ว่า ท้องน้ำ
อภิปรายขยายความ :
ในภาษาไทยมีหลายคำที่เกี่ยวกับน้ำ เราเรียกว่า “ท้อง-” เช่น ท้องคุ้ง ท้องคลอง ทองร่อง ท้องทะเล และท้องน้ำ
ถ้าเทียบคำเหล่านี้ แล้วดูที่มาคำว่า “ชโลทร” < ชล + อุทร = “ท้องแห่งน้ำ” > ท้องน้ำ ก็ชวนให้เห็นว่าน่าจะเป็นไปได้มาก
แต่ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่สนิทใจ เนื่องจากยังไม่พบรูปศัพท์ “ชโลทร” ในบาลี
ศัพท์ที่พบในบาลีบ่อยๆ คือ “ชลธร” บาลีอ่านว่า ชะ-ละ-ทะ-ระ แปลว่า “ทรงไว้ซึ่งน้ำ” ใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) เมฆ (cloud)
(2) ทะเล (the sea)
“ชลธร” ในภาษาไทยอ่านว่า ชน-ละ-ทอน คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
สันนิษฐานว่า เสียง ชน-ละ-ทอน นั่นเองชวนให้ได้ยินเป็น ชะ-โล-ทอน (ลองออกเสียงซ้ำๆ ดู) และพอได้ยินเช่นนั้นคงจะมีผู้สะกดตามความเข้าใจเอาเองเป็น “ชโลทร”
เมื่อสะกดเป็น “ชโลทร” รูปคำสามารถแยกเป็น ชล + อุทร ได้ และได้ความชอบกลดี จึงเป็นที่มาของความเห็นในพจนานุกรมฯ ที่ว่า “ชโลทร” (ซึ่งเพี้ยนมาจาก “ชลธร”) มาจาก ชล + อุทร
ขอย้ำว่า ที่ว่ามานี้เป็นข้อสันนิษฐานของผู้เขียนบาลีวันละคำ ที่เพียงแต่ฉุกคิดว่า รูปคำ “ชโลทร” ยังไม่พบในบาลี พบแต่ “ชลธร” จึงชวนให้สงสัย ไม่ได้ยืนยันว่าจะต้องเป็นจริงตามข้อสันนิษฐาน
ขอฝากผู้สนใจภาษาไทยช่วยกันศึกษาสืบสวนกันต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อดีตของคำ สืบได้ง่ายว่ามาจากไหน
: อดีตของคน สืบได้ยากว่ามาจากไหน
#บาลีวันละคำ (4,083)
17-8-66
…………………………….
…………………………….