บาลีวันละคำ

ไร้สาระ (บาลีวันละคำ 2,809)

ไร้สาระ

คำบาลีว่าอย่างไร

ไร้สาระ” ประกอบด้วยคำว่า ไร้ + สาระ

(๑) “ไร้” เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไร้ : (คำวิเศษณ์) ขัดสน, ไม่มี, ปราศจาก, เช่น ไร้ทรัพย์ ไร้ความสามารถ.”

(๒) “สาระ” เป็นคำบาลี เขียนแบบบาลีเป็น “สาร” อ่านว่า สา-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) สรฺ (ธาตุ = ขยาย, พิสดาร) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (สรฺ > สาร)

: สรฺ + = สรณ > สร > สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายออก

(2) สา (ธาตุ = มีกำลัง, สามารถ) + ปัจจัย

: สา + = สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีกำลัง

สาร” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สำคัญ, ประเสริฐยิ่ง, แข็งแรง (essential, most excellent, strong)

(2) ชั้นในที่สุด และส่วนที่แข็งที่สุดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, แก่นหรือแกนของไม้ (the innermost, hardest part of anything, the heart or pith of a tree)

(3) แก่นสาร, ส่วนสำคัญ, ส่วนที่ดีที่สุด (substance, essence, choicest part)

(4) คุณค่า (value)

บาลี “สาร” ในที่นี้คำไทยสะกดเป็น “สาระ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

สาระ : (คำนาม) ส่วนสำคัญ, ข้อใหญ่ใจความ, เช่น เขียนมายืดยาวแต่มีสาระน้อย ทำดีย่อมได้ดีเป็นสาระสำคัญของเรื่องนี้; ประโยชน์ เช่น เรื่องไม่เป็นสาระ ไร้สาระ.”

คำว่า “ไร้สาระ” ตรงๆ ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปรายขยายความ :

เราท่านทั้งหลายที่พูดได้ คงจะเคยพูดคำว่า “ไร้สาระ” กันมาแล้ว กล่าวคือ เมื่อเห็นใครทำอะไร พูดอะไร หรือคิดอะไร ไม่ถูกใจเรา หรือที่เราไม่เห็นด้วย เราก็จะบอกว่า “ไร้สาระ” หมายความว่า สิ่งที่เขาทำ-พูด-คิดนั้น ไม่มีประโยชน์-อย่างน้อยก็ในความเห็นของเรา

ไร้สาระ” คำบาลีว่าอย่างไร?

คัมภีร์มหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่ม 29 ข้อ 798 บอกคำที่หมายถึง “ไร้สาระ” ไว้ 3 คำ คือ –

(1) “อสาร” (อะ-สา-ระ)

(3) “นิสฺสาร” (นิด-สา-ระ)

(4) “สาราปคต” (สา-รา-ปะ-คะ-ตะ)

คัมภีร์สัทธัมมปัชโชติกา อันเป็นอรรถกถาของมหานิทเทส ภาค 1 หน้า 178 ไขความคำทั้ง 3 ไว้ดังนี้ –

(1) อสาโรติ  น  สาโร  สารวิรหิโต  วา.

คำว่า อสาโร หมายความว่า ไม่เป็นแก่นสาร หรือเว้นจากแก่นสาร

(2) นิสฺสาโรติ  สพฺเพน สพฺพํ สารวิรหิโต.

คำว่า นิสฺสาโร หมายความว่า เว้นจากแก่นสารด้วยประการทั้งปวง

(3) สาราปคโตติ  สารโต  อปคโต.

คำว่า สาราปคโต หมายความว่า ปราศจากแก่นสาร

…………..

จะเห็นได้ว่า แม้อธิบายแล้ว ความหมายก็ยังวนเวียนอยู่ใกล้ๆ กัน แยกไม่ออกว่าต่างกันอย่างไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำขออธิบายโดยอัตโนมัตยาธิบาย ดังนี้ –

อสาร” หมายถึง สิ่งนั้นไม่เป็นสาระหรือไม่มีสาระอยู่ในตัวเองมาแต่เดิม นี่คือ “ไร้สาระ” แท้ๆ

นิสฺสาร” หมายถึง สิ่งนั้นเคยมีสาระอยู่ด้วย แต่บัดนี้สาระที่มีอยู่นั้นได้ออกไปจากตัวเสียแล้ว จึงเรียกว่า “ไร้สาระ

สาราปคต” หมายถึง สิ่งนั้นเคยมีสาระอยู่ด้วย แต่บัดนี้ตัวเองได้ทิ้งสาระไว้ตรงนั้นแล้วออกไปที่อื่นเสียแล้ว ขณะนี้ตัวเองจึง “ไร้สาระ

…………..

เพื่อให้เข้าใจความหมายของคำว่า “ไร้สาระ” ดียิ่งขึ้น ขอนำข้อความในคัมภีร์มหานิทเทสและคัมภีร์จูฬนิทเทสที่อุปมาสิ่งที่ “ไร้สาระ” ว่าเหมือนอะไรบ้างมาแสดงในที่นี้ ดังรายการต่อไปนี้ –

(1) นโฬ = ต้นอ้อ

(2) เอรณฺโฑ = ต้นละหุ่ง

(3) อุทุมฺพโร = ต้นมะเดื่อ

(4) เสตคจฺโฉ = ต้นรัก

(5) ปาลิภทฺทโก = ต้นทองกวาว

(6) ปุพฺพุฬกํ = ต่อมน้ำ (หยาดน้ำที่ตกลงเป็นโป่งเล็กๆ)

(7) เผณุปิณฺโฑ = ฟองน้ำ (ฝ้าเหนือน้ำ)

(8) มรีจิ = พยับแดด

(9) กทลิกฺขนฺโธ = ต้นกล้วย

(10) มายา = การแสดงกล

รายการ (1) – (5) และ (9) เป็นต้นไม้ที่ไม่มีแก่น (แก่น = สาร) จึง “ไร้สาระ” ตรงตัว

รายการ (6) และ (7) เป็นสิ่งที่ไม่คงทนยั่งยืน คือมีอยู่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวก็หายไป จึง “ไร้สาระ

รายการ (8) มองเห็นแต่ไกล เหมือนมี แต่พอเข้าไปหาก็ไม่เห็น จึง “ไร้สาระ

รายการ (10) มายา คือการแสดงกล เหมือนจริง แต่ไม่จริง คือหาความจริงไม่ได้ จึงถือว่า “ไร้สาระ

…………..

การจะเข้าใจสิ่งไรว่าเป็นสาระหรือไร้สาระ ท่านว่าขึ้นอยู่กับ “สังกัป” ที่เราแปลกันว่า “ความดำริ” ของแต่ละคน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺกปฺป” ว่า thought, intention, purpose, plan (ความคิด, ความจำนง, ความประสงค์, ความดำริ)

ถ้า “สังกัป” เป็นมิจฉา (wrong) ก็จะชักให้เห็นสิ่งที่ไร้สาระว่ามีสาระ และเห็นสิ่งที่มีสาระว่าไร้สาระ กล่าวคือเห็นผิดจากความเป็นจริง ก็จะไม่พบสาระที่แท้จริง

ถ้า “สังกัป” เป็นสัมมา (right) ก็จะชักให้เห็นสิ่งที่มีสาระว่ามีสาระ เห็นสิ่งที่ไร้สาระว่าไร้สาระ กล่าวคือเห็นถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ก็จะได้พบสาระที่แท้จริง

ในทางธรรม คัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย (พระไตรปิฎกเล่ม 21 ข้อ 150) แสดงธรรมที่เป็น “สาระ” ว่ามี 4 อย่าง คือ คือ –

(1) ศีล: ควบคุมพฤติกรรมทางการกระทำและคำพูดให้อยู่กรอบที่ดีงาม

(2) สมาธิ: ฝึกจิตให้ดิ่งนิ่งหนักแน่นมั่นคงในทางที่ดีงาม

(3) ปัญญา: พัฒนาความรู้ความเข้าใจให้รู้เท่าทันถูกต้องตามความเป็นจริง

(4) วิมุตติ: จิตหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง อันเป็นผลมาจากความสมบูรณ์แห่งศีล สมาธิ และปัญญา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทารกว่าวิ่งเล่นเป็นสาระ

: หนุ่มสาวสะว่ากินเที่ยวเล่นเป็นแก่นสาร

: ผู้ใหญ่ว่าสาระคือทำงาน

: ผู้เฒ่าว่าศีลทานคือสาระ

: จึงขึ้นอยู่กับวันวัย ใช่หรือนั่น

: เจ็ดขวบเป็นพระอรหันต์เห็นไหมหละ

: เจ็ดสิบแปดสิบยังเลอะเทอะก็เยอะยะ

: จะเห็นจริงแจ้งจะจงฝึกใจ

#บาลีวันละคำ (2,809)

20-2-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย