บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๓]

—————————–

ตอนที่ ๘ – ท่าทีของผู้แก้ปัญหา: ส่วนที่เป็น “พระคุณ”

———

ทีนี้ก็มาถึงปัญหาสำคัญ คือควรทำอย่างไรกับผู้ที่เรียนผิด รู้ผิด สอนผิด ประพฤติผิด รวมทั้งผู้ที่มีหน้าที่ต้องเรียนรู้ แต่ไม่ยอมเรียนรู้ด้วย

สิ่งที่ควรทำหรือต้องทำเป็นลำดับแรกสุดก็คือ เจริญเมตตาไมตรีจิต ทำความคิดว่าเขาก็คือญาติสนิทของเรา

ข้อนี้คือจุดที่เราส่วนมากพลาดไปตั้งแต่ต้น เพราะส่วนมากพอรู้เห็นได้ยินข่าว-บางทียังไม่ได้ตรวจสอบเลยว่าจริงหรือเท็จ-ก็ตั้งข้อรังเกียจทันที

จากนั้นก็จะหาทาง “ถล่ม” เหยียบย่ำซ้ำเติม ตามจิกกัดอย่างดุเดือดเมามัน แบบว่า-ต้องให้มันย่อยยับไปกับตานั่นเทียว

บางท่านเข้าใจว่าการทำอย่างนี้เป็นการกำจัดอลัชชีให้หมดไปจากศาสนา

แต่ที่แท้คือการสร้างศัตรูให้พระศาสนาโดยไม่รู้ตัว

และที่สำคัญก็คือขัดแย้งกับพุทธวิธีโดยตรง

พุทธวิธีคืออย่างไร โปรดศึกษาจากพระไตรปิฎกต่อไปนี้

……………..

ขอปรับความเข้าใจกันก่อนว่า พระไตรปิฎกที่จะอัญเชิญมาต่อไปนี้มีข้อความยืดยาวมาก เป็นความจงใจของผมที่จะนำเสนอเช่นนี้ เพื่อพิสูจน์ว่าเราทั้งหลายตั้งใจจริงที่จะช่วยกันรักษาพระศาสนา

ถ้าข้อความจากพระไตรปิฎกเพียงเท่านั้นเรายังเบื่อหน่ายที่จะอ่าน ไม่พอใจที่จะศึกษา หรืออ้างเหตุผลต่างๆ นานาที่จะไม่อ่าน ก็แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าอีกเป็นอันมากเราจะรู้เข้าใจได้อย่างไร

ถ้าเพียงแค่นี้ก็ส่ายหน้า เราจะรักษาพระศาสนาไว้ได้อย่างไร

และโปรดอย่าเรียกร้องหรือตั้งเงื่อนไข

จะต้องเอาที่ง่ายๆ

เอาที่สั้นๆ

ยาวๆ ยากๆ แบบนี้ไม่เอา

เอามาแบบนี้ใครเขาจะอ่าน

มันต้องสนองอัธยาศัยของคนอ่าน

มันต้องมีจิตวิทยาในการนำเสนอ

แบบนี้มันใช้ไม่ได้

ฯลฯ

ขอเรียนว่า ผมไม่ตามใจคนอ่านนะครับ

……………..

๑ พระสูตรแรกขออัญเชิญมาให้ศึกษาเต็มพระสูตร

………………….

อถโข  เกสี  อสฺสทมฺมสารถิ  เยน  ภควา  เตนุปสงฺกมิ  อุปสงฺกมิตฺวา  ภควนฺตํ  อภิวาเทตฺวา  เอกมนฺตํ  นิสีทิ  ฯ  เอกมนฺตํ  นิสินฺนํ  โข  เกสึ  อสฺสทมฺมสารถึ  ภควา  เอตทโวจ  ตฺวญฺจ  ขฺวาสิ  เกสิ  สญฺญาโต  อสฺสทมฺมสารถิ  กถญฺจ  ปน  ตฺวํ  เกสิ  อสฺสทมฺมํ  วิเนสีติ  ฯ  อหํ  โข  ภนฺเต  อสฺสทมฺมํ  สเณฺหนปิ  วิเนมิ  ผรุเสนปิ  วิเนมิ  สณฺหผรุเสนปิ  วิเนมีติ  ฯ  ……

ครั้งนั้นแล สารถีชื่อเกสีผู้ฝึกม้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูก่อนเกสี ท่านอันใครๆ ก็รู้กันดีแล้วว่าเป็นสารถีผู้ฝึกม้า ก็ท่านฝึกหัดม้าที่ควรฝึกอย่างไร?

สารถีเกสีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ฝึกหัดม้าที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง

ดูก่อนเกสี ถ้าม้าที่ควรฝึกของท่านไม่สามารถฝึกได้ด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ท่านจะทำอย่างไรกะมัน?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าม้าที่ควรฝึกของข้าพระองค์ไม่สามารถฝึกได้ด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ก็ฆ่ามันเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะคิดว่าโทษมิใช่คุณ (คือความเสียชื่อสำนักฝึกม้า) อย่าได้มีแก่สกุลอาจารย์ของเราเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นสารถีฝึกคนชั้นเยี่ยม พระองค์ทรงฝึกคนที่ควรฝีกอย่างไร?

ดูก่อนเกสี เราย่อมฝึกคนที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง

ดูก่อนเกสี ในวิธีทั้ง ๓ นั้น การฝึกดังต่อไปนี้เป็นวิธีละม่อม คือ (อบรมสั่งสอนเขาให้รู้ทางเจริญว่า)

กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้

วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้

มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมุโนสุจริตเป็นดังนี้

เทวดาเป็นดังนี้

มนุษย์เป็นดังนี้

การฝึกดังต่อไปนี้เป็นวิธีรุนแรง คือ (อบรมสั่งสอนเขาให้รู้ทางเสื่อมว่า)

กายทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้

วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้

มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้

นรกเป็นดังนี้

กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้

ปิตติวิสัย (คือแดนเปรต) เป็นดังนี้

การฝึกดังต่อไปนี้เป็นวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง คือ (อบรมสั่งสอนเขาให้รู้ทั้งทางเจริญและทางเสื่อมควบคู่กันไปว่า)

กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้

กายทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้

วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้

วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้

มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นดังนี้

มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้

เทวดาเป็นดังนี้

มนุษย์เป็นดังนี้

นรกเป็นดังนี้

กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้

ปิตติวิสัยเป็นดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าคนที่ควรฝึกของพระองค์ไม่สามารถฝึกได้ด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง พระองค์จะทำอย่างไรกะเขา?

ดูก่อนเกสี ถ้าคนที่ควรฝึกของเราไม่สามารถฝึกได้ด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง เราก็ฆ่าเขาเสีย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปาณาติบาตไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคเลย ก็เมื่อเป็นเช่นนั้นไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสอย่างนี้ว่า ฆ่าเขาเสีย?

จริง เกสี ปาณาติบาตไม่สมควรแก่ตถาคต ก็แต่ว่าคนที่ควรฝึกใดย่อมไม่สามารถฝึกได้ด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ตถาคตไม่สำคัญคนเช่นนั้นว่าควรว่ากล่าวสั่งสอน แม้สพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนก็ย่อมไม่สำคัญว่าควรว่ากล่าวสั่งสอน

ดูก่อนเกสี ข้อที่ตถาคตไม่สำคัญคนเช่นนั้นว่าควรว่ากล่าวสั่งสอน แม้สพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลายก็ไม่สำคัญว่าควรว่ากล่าวสั่งสอน นี้เป็นการฆ่าอย่างดีในวินัยของพระอริยะ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่พระตถาคตไม่สำคัญคนเช่นนั้นว่าควรว่ากล่าวสั่งสอน แม้สพรหมจารีผู้วิญญูชนก็ไม่สำคัญว่าควรว่ากล่าวสั่งสอน นั่นเป็นการฆ่าอย่างดีแน่นอน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก –

พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น –

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

จบเกสีสูตรที่ ๑

ที่มา: เกสีสูตร จตุกกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๑๑๑

………………….

หมายเหตุ: สำนวนว่า “ไม่สำคัญคนเช่นนั้นว่าควรว่ากล่าวสั่งสอน” หมายความว่า เมื่อสอนไม่ฟังสั่งไม่ได้ ก็ต้องปล่อยไป ไม่ควรนับว่าเป็นสาวกอีกต่อไป แบบเดียวกับวิธีที่เรียกว่า “ลงพรหมทัณฑ์”

แต่ถ้าผู้นั้นเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาก็ไม่ใช่ปล่อยเลย ต้องจัดการต่อไปตามกฎเกณฑ์และวิธีการทางพระวินัยอีกด้วย

……………

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๓

๑๗:๕๗

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๒]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3443628592397520

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๔]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3444276655666047

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *