บาลีวันละคำ

มุขศักดิ์ (บาลีวันละคำ 3,059)

มุขศักดิ์

ร้ายกว่าหอกโมกขศักดิ์

อ่านว่า มุก-ขะ-สัก

ประกอบด้วยคำว่า มุข + ศักดิ์

(๑) “มุข

บาลีอ่านว่า มุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มุขฺ (ธาตุ = เปิด, ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: มุขฺ + = มุข แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะอันเขาเปิดเผย” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องเป็นไปแห่งประโยชน์สุข

(2) มุ (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย

: มุ + = มุข แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องผูก

มุข” (นปุงสกลิงค์) หมายถึงอวัยวะ 2 อย่าง คือ ปาก (the mouth) และ หน้า (the face) จะหมายถึงอะไรต้องสังเกตที่บริบท

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มุข, มุข– : (คำนาม) หน้า, ปาก; ทาง; หัวหน้า; ส่วนของตึกหรือเรือนที่ยื่นออกมาจากส่วนใหญ่ มักอยู่ด้านหน้า. (ป., ส.).”

ในที่นี้ “มุข” หมายถึง ปาก (the mouth)

(๒) “ศักดิ์

บาลีเป็น “สตฺติ” (สัด-ติ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สกฺ (ธาตุ = สามารถ) + ติ ปัจจัย, แปลง กฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (นัยหนึ่งว่า ลบ กฺ ซ้อน ตฺ)

: สกฺ + ติ = สกฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สามารถ” หมายถึง ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (ability, power)

(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ

: สสฺ + ติ = สสฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน” หมายถึง หอก, หลาว; มีด, กริช, ดาบ (a spear, javelin; knife, dagger, sword)

บาลี “สตฺติ” สันสกฤตเป็น “ศกฺติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศกฺติ : (คำนาม) ‘ศักติ,’ กำลัง, แรง, ความกล้า; หอกหรือศรเหล็ก; เตชัส (หรือเดช) ของเทพดา, อันโรปยติเปนชายาของเธอ; นัยหรือความหมายของศัพท์; power, strength, prowess; an iron spear or dart; the energy of a deity, personified as his wife; signification or meaning of words.”

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ศักดิ” และนิยมออกเสียงว่า “สัก” จึงสะกดเป็น “ศักดิ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศักดิ์ : (คำนาม) อํานาจ, ความสามารถ, เช่น มีศักดิ์สูง ถือศักดิ์; กำลัง; ฐานะ เช่นมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญานี้ทุกประการ; หอก, หลาว. (ส. ศกฺติ; ป. สตฺติ).”

สรุปว่า สตฺติ > ศกฺติ > ศักดิ์ มีความหมาย 2 อย่าง คือ (1) ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (2) หอก, หลาว; มีด, กริช, ดาบ

ในที่นี้ “ศักดิ์” หมายถึง หอก, หลาว (a spear, javelin)

มุข + สตฺติ = มุขสตฺติ (มุ-ขะ-สัด-ติ) แปลว่า “หอกคือปาก” หมายถึง คำที่ทิ่มแทง, ปากกล้า (piercing words)

เช่นในประโยคว่า –

ตาหิ  มุขสตฺตีหิ  วิตุทนฺตา  วิชฺฌนฺตา  วิหรนฺติ.

อยู่ด้วยกันก็ใช้ปากถากถากทิ่มแทงกัน

(ปรมัตถทีปนี อุทานวัณณนา หน้า 516)

คือเปรียบปากว่าเหมือนหอก ในความหมายที่ว่า ใช้ถ้อยคำวาจาทิ่มแทงกัน พูดให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บใจ เหมือนคนใช้หอกทิ่มแทงกันฉะนั้น

บาลี “มุขสตฺติ” เขียนตามรูปสันสกฤตเป็น “มุขศักดิ์” อ่านว่า มุก-ขะ-สัก แปลว่า “หอกคือปาก

คำว่า “มุขศักดิ์” ยังไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ในภาษาไทยก็ยังไม่ได้ยินว่ามีใครใช้พูดกัน

จึงขอฝากไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บัณฑิตใช้ปากเป็นยาสมาน

: คนพาลใช้ปากเป็นอาวุธทิ่มแทงกัน

#บาลีวันละคำ (3,059)

27-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย