ดรุณ – ดรุณี (บาลีวันละคำ 3,235)
ดรุณ – ดรุณี
กว่าจะรู้รากศัพท์สองคำนี้ก็แก่ไปตามๆ กัน
อ่านว่า ดะ-รุน ดะ-รุ-นี
(๑) “ดรุณ”
บาลีเป็น “ตรุณ” อ่านว่า ตะ-รุ-นะ รากศัพท์มาจาก ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + อุณ ปัจจัย
: ตรฺ + อุณ = ตรุณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ข้ามความเป็นเด็กไป”
“ตรุณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) อ่อน, มีอายุน้อย, หนุ่มสาว (tender, of tender age, young)
(2) ใหม่, ใหม่ ๆ, สด (new, newly, fresh)
(3) หน่อไม้, พืชที่ขึ้นใหม่ ๆ หรือยังอ่อนอยู่ (the shoot of a plant, or a young plant)
บาลี “ตรุณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ดรุณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ดรุณ : (คำนาม) เด็กรุ่น. (คำวิเศษณ์) หนุ่ม, อ่อน, รุ่น. (ป., ส. ตรุณ).”
(๒) “ดรุณี”
บาลีเป็น “ตรุณี” อ่านว่า ตะ-รุ-นี รากศัพท์มาจาก –
(1) ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ, แปลง อะ ที่ (ต)-รฺ เป็น อุ (ตรฺ > ตรุ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ตรฺ + ยุ > อน = ตรน > ตรณ > ตรุณ + อี > ตรุณี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ข้ามวัยเด็กไป”
(2) ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + อุน ปัจจัย, แปลง น เป็น ณ + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ตรฺ + อุน = ตรุน > ตรุณ + อี > ตรุณี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ข้ามความเป็นเด็กไป”
“ตรุณี” มีความหมายเหมือน “ตรุณ” เพียงแต่ใช้กับเพศหญิงเท่านั้น
บาลี “ตรุณี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ดรุณี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ดรุณี : (คำนาม) เด็กหญิงรุ่น. (คำวิเศษณ์) สาว, อ่อน, รุ่น. (ป., ส. ตรุณี).”
สรุปว่า –
“ดรุณ” หมายถึง ผู้ชายวัยรุ่น
“ดรุณี” หมายถึง ผู้หญิงวัยรุ่น
คำที่มักพูดกันติดปากก็อย่างเช่น “แรกรุ่นดรุณี” เป็นทั้งคำศัพท์และคำแปลอยู่ในตัว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กว่าจะรู้ว่าวัยหนุ่มสาวอยู่กับเราไม่นาน
: หนุ่มสะคราวสาวสะคราญก็จากเราไปแล้ว
#บาลีวันละคำ (3,235)
21-4-64