บาลีวันละคำ

มานิมามา (บาลีวันละคำ 3,234)

มานิมามา

บาลีหลอก

คำว่า “มานิมามา” ที่ยกขึ้นเขียนเป็นบาลีวันละคำนี้เคยได้ยินว่ามีผู้นำไปอ้างอิงว่าเป็น “คาถาเรียกคน” และว่าพ่อค้าแม่ขายถ้าหมั่นท่องบ่นไว้เสมอจะซื้อง่ายขายคล่อง

เสียงและรูปคำ ถ้าฟังโดยไม่คิดอะไร ก็เหมาะที่จะเป็นภาษาบาลี คงมีคนเชื่อว่าเป็นคาถาจริงๆ อยู่ไม่น้อย

แต่ถ้าถามว่า คำว่า “มานิมามา” ถ้าเป็นภาษาบาลีจะแปลว่าอะไร คงหาคนตอบได้ยาก

ถ้าสังเกตสักหน่อยก็จะจับได้ว่า คำว่า “มานิมามา” เป็นบาลีหลอก คือบาลีปลอม เป็นคำไทยที่เอาไปเลียนเสียงให้เป็นบาลี

มานิมามา” ก็คือคำไทยว่า “มานี่ มา มา” คือคำร้องเชิญหรือร้องบอกให้คนเข้ามาหา แปลงเป็นภาษาฝรั่งง่ายๆ ก็คือ come here, come, come. – ประมาณนี้

เป็นคำจำพวกเดียวกับ —

: อะธิจะตังกะมิตัง จะมาตัง นะทิกูจะนัง (ไอ้ที่จะตั้งก็ไม่ตั้ง จะมาตั้งตรงที่กูจะนั่ง)

: กิงกะโรมะ กูจะวีนัง (กลิ้งกะโหลกมา กูจะวิดน้ำ)

คำจำพวกนี้ถือว่าเป็นคำตลก เอาไว้พูดเล่นกันสนุกๆ เท่านั้น

แต่ “มานิมามา” นี้มีผู้บอกว่า มีคนเชื่อว่าเป็นคำบาลีจริง และเชื่อว่าเป็นคาถาเรียกคนได้จริงๆ

ถ้าใครอยากสนุกโดยการทำสิ่งที่ไม่มีสาระให้เป็นสาระ ก็อาจทำได้ คือลองเทียบคำที่ออกเสียงว่า “มานิ” และ “มามา” เป็นคำบาลีจริงๆ ว่าควรจะเป็นคำว่าอะไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอลองเล่นสนุกด้วยดังนี้ –

(๑) “มานิ” คำบาลีว่า “มานี” รากศัพท์มาจาก มาน + อี ปัจจัย

(ก) “มาน” อ่านว่า มา-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มานฺ (ธาตุ = บูชา) + (อะ) ปัจจัย

: มานฺ + = มาน แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ให้เขาบูชา” (คือต้องการให้เขานับถือ)

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้, คิด, เข้าใจ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ ะ ที่ -(น) เป็น อา (มนฺ > มาน)

: มนฺ + = มนณ > มน > มาน แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่สำคัญตนว่าดีกว่าเขาเป็นต้น

(3) มา (ธาตุ = นับถือ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: มา + ยุ > อน = มาน แปลตามศัพท์ว่า “อาการเป็นเหตุให้เขานับถือตน

มาน” (ปุงลิงค์) ในบาลีมีความหมายว่า –

(1) ความถือตัว, ความหยิ่ง, ความยโส (pride, conceit, arrogance)

(2) เกียรติ, การนับถือ (honour, respect)

ในภาษาไทย ใช้เป็น “มาน” และ “มานะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) มาน ๒ : (คำนาม) ความถือตัว; ใจ, ดวงใจ, เช่น ดวงมาน. (ป., ส.).

(2) มานะ ๒ : (คำนาม) ความพยายาม, ความตั้งใจจริง, ความพากเพียร, เช่น มีมานะอดทน มีมานะในการทำงาน; ความถือตัว. (ป.).

(ข) มาน + อี = มานี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีมานะ” แปลเข้ากับความเข้าใจอย่างไทยๆ ว่า ผู้มีความอดทนในการทำงาน

(๒) “มามา

รากศัพท์มาจาก มม (“ของข้าพเจ้า”) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” = ยืดเสียง อะ ที่ -(ม) เป็น อา (มม > มาม) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

ความรู้หลักไวยากรณ์ :

๑ “มม” (มะ-มะ) เป็นสรรพนาม ศัพท์เดิมคือ “อมฺห” (อำ-หะ) = ข้าพเจ้า, ฉัน, ข้า, กู แจกด้วยวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) ได้รูปเป็น “มม” แปลว่า “ของข้าพเจ้า” (เทียบคำอังกฤษ: I > my > mine)

ปัจจัย ตามกฎใช้ประกอบท้ายธาตุ. มม เป็นนาม แต่ใช้กฎพิเศษ ลง อาย (อา-ยะ) ปัจจัยแปลงนามเป็นกริยา : มม + อาย = มมาย (มะ-มา-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประพฤติเพียงดังว่าของข้าพเจ้า” หมายถึง ติดพัน, รัก, ชอบ, เชิดชู, ทะนุถนอม, เลี้ยง, รักษา, ส่งเสริม, รัก (to be attached to, to be fond of, to cherish, tend, foster, love)

๓ “มมาย” จึงมีสถานะเป็นธาตุ + ปัจจัย, ลบ อาย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย

: มมาย > มม + = มม > มาม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเพียงดังว่าของข้าพเจ้า” (“mine”) หมายถึง ผู้แสดงความรักใคร่ (มิใช่เฉพาะตัวเขาเอง), ทำให้เป็นของตนเอง, ภักดี, รักใคร่ (one who shows affection (not only for himself), making one’s own, devoted to, loving)

มาม + อา = มามา แปลว่า “ผู้ถือเอาว่าสิ่งนั้นเป็นของตนเอง

อย่างไรก็ตาม โปรดระลึกไว้ว่า นี่เป็นเพียงการคิดเล่นสนุกๆ หลักสำคัญคือ “มานี” ก็ดี “มามา” ก็ดี แม้จะอธิบายด้วยหลักไวยากรณ์ได้ ก็ต้องศึกษาให้รู้ชัดว่า ศัพท์แบบนี้มีใช้ในคัมภีร์หรือเปล่า เพราะเราเรียนบาลีก็เพื่อเข้าไปหาคัมภีร์อันเป็นต้นฉบับคำสอน

แต่ทั้งนี้ก็มิได้แปลว่า คำไหนไม่มีในคัมภีร์ คำนั้นใช้ไม่ได้ ถ้าสามารถอธิบายที่ไปที่มาได้ คำนั้นก็อยู่ในฐานะที่จะใช้ได้ในโอกาสใดโอกาสหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม คำว่า “มานิมามา” เมื่อพยายามอธิบายช่วยให้เป็นคำบาลี “มานิ” คือ “มานี” แปลว่า ผู้มีมานะ ผู้มีความถือตัว หรือแปลแบบไทยว่าผู้มีความอดทน “มามา” แปลว่า ผู้ถือเอาว่าสิ่งนั้นเป็นของตนเอง ก็จะเห็นได้ว่า มิได้มีความหมายในทางเรียกคนให้เข้ามาหาแต่ประการใดทั้งสิ้น

เมื่อใครยกคำบาลีหรือคาถาที่อ้างว่าศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาแสดง ผู้เรียนบาลีควรรู้ทัน และเมื่อตรวจสอบแล้วก็ควรเข้าใจได้ถูกต้องว่า ถ้อยคำนั้น จริงๆ แล้วมีความหมายอย่างที่เชื่อกันหรือมิได้มีความหมายอะไรเลย ที่จริงแล้วเป็นเพียงบาลีหลอกๆ เท่านั้นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

บาลี —

: จงเรียนจนรู้ว่าอะไรเป็นบาลีหลอก

: แต่อย่าเรียนเพื่อเอาความรู้ไปหลอกว่าเป็นบาลี

#บาลีวันละคำ (3,234)

20-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *