บทความเรื่อง ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย
————————-
ข้อมูลที่สาม:
คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๖ (เปสการธีตุวตฺถุ เรื่องที่ ๑๔๓) เล่าเรื่องพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองอาฬวี ทรงแสดงธรรมแก่ชาวเมืองมีความว่า
…………………
ท่านทั้งหลายจงเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า ชีวิตของเราไม่แน่นอน, ความตายของเราแน่นอน, เราพึงตายแน่แท้ ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตของเราไม่เที่ยง ความตายเที่ยง
คนที่ไม่เคยเจริญมรณสติ-คือการระลึกถึงความตายอันจะมาถึงตน เมื่อถึงเวลาตายย่อมหวาดหวั่นพรั่นพรึงสะดุ้งกลัวเหมือนคนเห็นอสรพิษฉะนั้น
ส่วนผู้ที่หมั่นเจริญมรณสติ เมื่อถึงเวลาตายย่อมไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึง เหมือนคนเห็นอสรพิษขดอยู่รู้ว่าเป็นอสรพิษก็หาไม้ค่อยเขี่ยไปให้พ้นทางฉะนั้น
…………………
ครั้นแล้วจึงทรงแนะนำชาวเมืองให้เจริญมรณสติ
“เจริญมรณสติ” ก็คือให้ระลึกว่า –
อทฺธุวํ เม ชีวิตํ = ชีวิตของเราไม่แน่นอน
ธุวํ เม มรณํ = ความตายของเราแน่นอน
อวสฺสํ มยา มริตพฺพํ = เราพึงตายแน่แท้
มรณปริโยสานํ เม ชีวิตํ = ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด
ชีวิตํ เม อนิยตํ = ชีวิตของเราไม่เที่ยง
มรณํ นิยตํ = ความตายเที่ยง
…………………
พึงเข้าใจให้ถูกต้องว่า การระลึกถึงความตายตามวิธีของพระพุทธเจ้านี้ไม่ใช่บอกให้กลัวตาย
หรือบอกให้ใจฝ่อ
ระลึกแล้วใจเสีย
กำลังใจตก
ไม่มีกะใจจะทำอะไร
อย่างที่คนส่วนมากคิดกันอย่างผิดๆ ว่า-เอาเรื่องตายมาพูดเป็นอัปมงคล
หรืออย่างที่กระแหนะกระแหนกันว่า-คำก็ตาย สองคำก็ตาย ไม่ต้องทำมาหากินอะไรกันแล้ว
คิดแบบนั้นเป็นทัศนะที่ผิดอย่างสิ้นเชิง
การระลึกถึงความตายตามวิธีของพระพุทธเจ้าระลึกแล้วยิ่งมีกำลังใจ ยิ่งฮึด ยิ่งไม่ประมาท ยิ่งรอบคอบ ยิ่งมุ่งมั่นที่จะทำกิจการงานอย่างขะมักเขม้น ไม่เรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะ
เหมือนคนที่รู้ว่า ตนมีงานที่จะต้องทำอยู่เท่านี้ มีเวลาอยู่เท่านี้ ครั้นแล้วก็คิดวางแผนว่าจะทำงานอย่างไรให้สำเร็จเรียบร้อยตามเวลาที่มีอยู่ แล้วลงมือทำ หมดเวลา งานเสร็จ จะไปไหนก็ไปได้อย่างสบายใจ
ไปไหนก็ไปได้อย่างสบายใจนั่นแหละคือที่ตรงกับ-ไม่กลัวตาย
เป็นอันว่าได้ข้อมูลอีกแห่งหนึ่งว่า คนที่ไม่กลัวตายอีกจำพวกหนึ่งคือคนที่หมั่นเจริญมรณสติอย่างถูกวิธี
………….
ตอนต่อไป: สรุป
๔ มีนาคม ๒๕๖๓
๑๐:๑๕
Sueb Lim