บทความชุด: ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย
ไม่ศึกษาพระธรรมวินัยก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร (๐๐๗)
ไม่ศึกษาพระธรรมวินัยก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร (๐๐๗)
——————————-
ผมเข้าใจว่า ตกมาถึงกาลบัดนี้ แนวคิดหรือความคิดคำนึงที่ว่า “ไม่ศึกษาพระธรรมวินัยก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร” ได้ฟักตัวมาจนเติบโตขึ้นแล้ว ทั้งในหมู่ชาวบ้านและชาววัด
ในหมู่ชาวบ้านนั้นไม่ต้องสงสัย ชาวบ้านทั่วไปคิดเห็นกันอย่างนี้มาช้านานแล้ว ผลที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ก็คือ ชาวพุทธระดับรากหญ้าในสังคมไทยขาดความรู้ในหลักพระศาสนาโดยสิ้นเชิง
ทำทุกอย่างเกี่ยวกับวัด เกี่ยวกับพระ เกี่ยวกับ “งานบุญ” ด้วยความศรัทธาอย่างเต็มที่
แต่ไม่มีปัญญาที่จะวินิจฉัยหาเหตุผลที่ถูกต้องว่า เรื่องนั้นๆ ที่ถูกต้องจะต้องทำอย่างไร ทำทำไม
เมื่อเช้าใส่บาตร ลืมกรวดน้ำ มานึกได้เอาตอนเย็น จะได้บุญไหม?
ร้อยทั้งร้อยตอบตามความเข้าใจของตัวเอง
หลักพระธรรมวินัยว่าไว้อย่างไร ไม่รู้ (และคิดต่อไปว่า) ไม่รู้จะรู้ไปทำไม
นี่เป็นเพียงตัวอย่างนิดเดียว-ของผลที่กำลังเกิดขึ้น
ส่วนในหมู่ชาววัด เมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การเอาใจใส่ในการศึกษาพระธรรมวินัยยังพอมีให้เห็นเป็นที่น่าอนุโมทนาอยู่บ้าง
คำว่า “บวชเรียน” อันเป็นคำเก่าที่บ่งบอกถึงภาระหน้าที่ของผู้บวชเข้ามาในพระศาสนา ยังเป็นที่กล่าวอ้างรับรู้กันทั่วไป
แต่ตกมาถึงกาลบัดนี้ คำว่า “บวชเรียน” แทบไม่มีใครพูดถึง
…………….
ขออนุญาตเชิญชวนให้ศึกษาพระธรรมวินัยกันอีกเรื่องหนึ่ง คือ ผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนานี้แล้วต้องทำ “ธุระ” อะไรบ้าง
หรือถามว่า งานของพระภิกษุสามเณรคืออะไร?
คิดเอาเอง นึกเอาเอง หาเหตุผลมาตอบเอาเอง ไม่ได้
คำตอบมีอยู่ในคัมภีร์ “ธัมมปทัฏฐกถา” (ทำ-มะ-ปะ-ทัด-ถะ-กะ-ถา)
…………….
ในพระธรรมวินัยหรือพระไตรปิฎกมีคัมภีร์หนึ่งอยู่ในหมวดพระสูตร ชื่อ “ธมฺมปท” (ทำ-มะ-ปะ-ทะ) หรือ “ธรรมบท” (ทำ-มะ-บด) เป็นพระพุทธพจน์คำกลอน คือข้อความเป็น “คาถา” ล้วนๆ
ภาษาไทยเรียกว่ากาพย์กลอน
ภาษาบาลีเรียกว่า “คาถา”
คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาเป็นคัมภีร์อธิบายขยายความคัมภีร์ “ธรรมบท” นั้น
และแน่นอน ท่านเรียบเรียงไว้เป็นภาษาบาลี
คำว่า “ธัมมปทัฏฐกถา” แปลว่า “คำอธิบายความแห่งคัมภีร์ธรรมบท” หรือเรียกทับศัพท์ว่า “อรรถกถาธรรมบท”
ความจริงคัมภีร์นี้มีชื่อเฉพาะว่า “ปรมัตถโชติกา” แต่นักเรียนบาลีแทบทั้งหมดจะไม่รู้จักชื่อนี้ จึงมักเรียกกันว่า “ธัมมปทัฏฐกถา”
คัมภีร์ “ธัมมปทัฏฐกถา” ประกอบด้วยเนื้อหาหลัก ๓ ส่วน คือ –
(๑) เรื่องเล่าถึงความเป็นมาหรือเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ตรัสคาถาบทนั้นๆ ส่วนนี้นิยมเรียกกันว่า “ท้องนิทาน”
(๒) ตัวคาถาที่ยกมาจากคัมภีร์ “ธมฺมปท” ในพระไตรปิฎก เรียกกันว่า “คาถา”
(๓) คำอธิบายความหมายของคาถา เรียกกันว่า “แก้อรรถ”
วิธีเรียบเรียงในคัมภีร์ “ธัมมปทัฏฐกถา” คือ ยกคาถาจากคัมภีร์ “ธมฺมปท” ในพระไตรปิฎกมาตอนหนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นคาถาบทเดียวหรือหลายบท) โดย (๑) เล่า “ท้องนิทาน” ประกอบ (๒) แล้วอ้างคาถาบทนั้น และ (๓) อธิบายความหมายของคาถา จบลงด้วยการสรุปว่าเมื่อตรัสคาถาจบแล้วผู้ฟังบรรลุผลเช่นไร
รวมทั้ง ๓ ส่วนนี้เรียกว่า “วตฺถุ” (แปลว่า “เรื่อง-”) เช่น “จกฺขุปาลตฺเถรวตฺถุ” = เรื่องพระเถระชื่อว่าจักขุบาล
“ธัมมปทัฏฐกถา” ประกอบด้วย “วตฺถุ” คือ“เรื่อง-” ดังกล่าวนี้ทั้งหมด ๓๐๒ เรื่อง
คัมภีร์ “ธัมมปทัฏฐกถา” ที่พิมพ์เป็นบาลีอักษรไทยฉบับที่ยุติเป็นมาตรฐานในเมืองไทย คือฉบับที่มหามกุฏราชวิทยาลัยจัดพิมพ์ แบ่งเป็น ๘ เล่ม เรียกว่า “ภาค” ตั้งแต่ “ปฐโม ภาโค” = ภาค ๑ จนถึง “อฏฺฐโม ภาโค” = ภาค ๘
วงการบาลีในเมืองไทยถ้าพูดว่า “ธรรมบท” จะเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึง “ธัมมปทัฏฐกถา” หรือ “อรรถกถาธรรมบท” ดังกล่าวนี้ ไม่ได้หมายถึง “ธมฺมปท” ในพระไตรปิฎก
หลักสูตรการศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยกำหนดให้ใช้คัมภีร์ “ธัมมปทัฏฐกถา” เป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ๑-๒ และชั้นประโยค ป.ธ. ๓ และวิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๔ (เฉพาะเล่ม ปฐโม ภาโค เล่มเดียว)
กล่าวได้ว่า มหาเปรียญทั้งหมดในเมืองไทยต้องผ่านคัมภีร์ “ธัมมปทัฏฐกถา” หรือ “ธรรมบท” มาแล้วจึงจะมีสิทธิ์ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา”
…………….
รู้จักหน้าตาของคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาแล้ว ต่อไปนี้มาเจาะเข้าจุดที่ต้องการ
คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ เรื่องแรกชื่อ “จกฺขุปาลตฺเถรวตฺถุ” แปลเป็นไทยว่า “เรื่องพระเถระชื่อว่าจักขุบาล” สรุปใจความที่ต้องการว่า มีพี่น้อง ๒ คนชาวเมืองสาวัตถี เป็นพ่อค้า วันหนึ่ง พี่ชายไปฟังพระธรรมเทศนาที่วัดเชตวัน เกิดศรัทธา เลยออกบวช
หัวใจของเรื่องอยู่ตรงนี้ คือเมื่อบวชแล้วท่านทูลถามพระพุทธองค์ว่า –
…………….
ภนฺเต อิมสฺมึ สาสเน กติ ธุรานิ.
พระเจ้าข้า ในพระศาสนานี้มีธุระกี่อย่าง?
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า –
คนฺถธุรํ วิปสฺสนาธุรนฺติ เทฺวเยว ธุรานิ ภิกฺขุ.
ดูก่อนภิกษุ มีธุระ ๒ อย่างเท่านั้น คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ
ทูลถามอีกว่า –
กตมํ ปน ภนฺเต คนฺถธุรํ กตมํ วิปสฺสนาธุรํ.
พระเจ้าข้า คันถธุระเป็นอย่างไร? วิปัสสนาธุระเป็นอย่างไร?
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า –
อตฺตโน ปญฺญานุรูเปน เอกํ วา เทฺว วา นิกาเย สกลํ วา ปน เตปิฏกํ พุทฺธวจนํ อุคฺคณฺหิตฺวา ตสฺส ธารณํ กถนํ วาจนนฺติ อิทํ คนฺถธุรํ นาม.
การเรียนนิกายหนึ่งก็ดี สองนิกายก็ดี จบพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกก็ดี ตามสมควรแก่ปัญญาของตน แล้วทรงจำไว้ บอกกล่าวสั่งสอน นี้ชื่อว่าคันถธุระ
สลฺลหุกวุตฺติโน ปน ปนฺตเสนาสนาภิรตสฺส อตฺตภาเว ขยวยํ ปฏฺฐเปตฺวา สาตจฺจกิริยาวเสน วิปสฺสนํ วฑฺเฒตฺวา อรหตฺตคฺคหณนฺติ อิทํ วิปสฺสนาธุรํ นาม.
การที่ภิกษุมีความประพฤติปลอดโปร่ง (ไม่ติดข้องอยู่ด้วยภาระหรือความปรารถนาต่างๆ) ยินดีพอใจอยู่ในที่สงบสงัด กำหนดพิจารณาความความแตกดับของสังขาร จำเริญวิปัสสนาติดต่อกันไปไม่ขาดสาย จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตผล นี้ชื่อว่าวิปัสสนาธุระ
…………….
ธุระหน้าที่ของผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนามีแค่ ๒ อย่างเท่านี้
ถ้าผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนายังทำธุระ ๒ อย่างนี้อยู่อย่างเข้มแข็งมั่นคง พระศาสนาก็ยังดำเนินสืบทอดต่อไปได้
ถ้าผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนาไม่ทำธุระ ๒ อย่างนี้ พระศาสนาก็ไปไม่รอด
อันที่จริง พระภิกษุสามเณรที่เรียนบาลีก็ได้เรียนเรื่องนี้กันมาแล้วทั้งนั้น แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งในกระบวนการเรียนบาลีของเราก็คือ เพ่งเน้นไปที่การแปลศัพท์ให้ได้ เดินประโยคถูกต้อง แปลออกแปลได้ ทำข้อสอบถูกต้อง ก็จบภารกิจเพียงแค่นั้น
เนื้อหาเรื่องราวที่แปลว่าด้วยเรื่องอะไร มีแง่คิด มีข้อที่ควรคำนึงน้อมนำไปปฏิบัติอย่างไรบ้าง – ไม่ได้อยู่ในความสนใจ
คือเรียนภาษา แต่ไม่ได้มุ่งเรียนพระธรรมวินัย
ผมเข้าใจว่าแม้เวลานี้ก็ยังคงเป็นแบบนั้นอยู่
นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่สมควรปรับทัศนคติกันใหม่ มิเช่นนั้นเราจะหลงทางกันอยู่อย่างนี้
คือต้องปรับแก้เป็น-มุ่งเรียนพระธรรมวินัยโดยใช้ภาษาบาลีเป็นสะพาน
ไม่ใช่เรียนแต่ภาษาบาลี แล้วจบอยู่แค่นั้น ไม่ต่อไปให้ถึงพระธรรมวินัย
…………….
บทความชุดนี้มุ่งแบ่งปันความรู้ พร้อมกับปลุกจิตสำนึกให้เห็นความสำคัญของการศึกษาพระธรรมวินัย
ถ้าพระภิกษุสามเณรพากันคิดเห็นไปว่า-ไม่ศึกษาพระธรรมวินัยก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร
พระพุทธศาสนาในบ้านเมืองเราก็ถึงกาลอวสาน
จะศึกษาเรื่องอื่นๆ กันอย่างไร ก็ไม่ว่า
แต่ขออาราธนาให้ศึกษาพระธรรมวินัยด้วย-อย่างน้อยก็อย่าให้น้อยไปกว่าที่ศึกษาเรื่องอื่น
พระไตรปิฎกมีอยู่แล้วทุกวัด วัดละหลายชุด
เวลานี้ไม่ต้องเปิดเล่มกระดาษก็ยังได้ เปิดทางอินเตอร์เน็ตอ่านได้สะดวกสบาย
ภาษาบาลีก็เรียนกันมาแล้ว พอจะจับจะคลำใช้งานได้
ถ้ายังไม่เคยเรียน ก็ยังไม่สายที่จะลงมือเรียนรู้
ธุระที่จะต้องทำในพระศาสนา ก็เรียนรู้มาแล้วว่าคืออะไรบ้าง
การไม่ศึกษาพระธรรมวินัยคือความบรรลัยของพระศาสนา – ความจริงข้อนี้ก็มีผู้บอกกล่าวเตือนสติกันอยู่เสมอ
แล้วยังจะรออะไรอยู่อีก
กราบอาราธนาด้วยความเคารพขอรับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒ ตุลาคม ๒๕๖๒
๑๑:๔๐
…………………………….