คูถภาณี (บาลีวันละคำ 2,657)
คูถภาณี
ปากเหม็น คือเช่นไร
อ่านว่า คู-ถะ-พา-นี
ประกอบด้วยคำว่า คูถ + ภาณี
(๑) “คูถ”
บาลีอ่านว่า คู-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) คูถฺ (ธาตุ = ขับถ่าย, ระบาย) + อ ปัจจัย
: คูถฺ + อ = คูถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ระบายออกมา”
(2) คุปฺ (ธาตุ = ปกปิด) + ถ ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ คุ-(ปฺ) เป็น อู (คุปฺ > คูปฺ), ลบที่สุดธาตุ (คุป > คุ)
: คุปฺ + ถ = คุปถ > คูปถ > คูถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาปกปิดเพราะเป็นของเสีย”
“คูถ” (ปุงลิงค์) หมายถึง คูถ, อุจจาระ, ขี้ (excrements, faeces, dung)
(๒) “ภาณี”
บาลีอ่านว่า พา-นี รากศัพท์มาจาก ภณฺ (ธาตุ = กล่าว, ส่งเสียง) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ภณฺ > ภาณฺ)
: ภณฺ + ณี > อี = ภณี > ภาณี (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล่าว” หมายถึง พูด, สาธยายหรือสวด (speaking, reciting)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาณี : (คำนาม) ผู้สวด, ผู้กล่าว, ผู้บอก, คนช่างพูด, เพศหญิง ใช้ว่า ภาณินี.”
คูถ + ภาณี = คูถภาณี แปลว่า “ผู้มีปกติกล่าวถ้อยคำประดุจคูถ”
คำนี้แปลตรงตัวว่า “พูดเหมือนขี้” หมายถึงคำพูดของเขาเปรียบเหมือนขี้ ในภาษาไทยมักเข้าใจกันว่า คนปากเสีย พูดไม่เข้าหูคน เรียกเทียบคำบาลีว่า “ปากเหม็น”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คูถภาณี” ว่า of foul speech (ผู้พูดคำหยาบ)
ขยายความ :
พูดอย่างไรเรียกว่า “คูถภาณี” = ปากเหม็น หรือปากเสีย?
ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรหนึ่งชื่อ “คูถภาณีสูตร” คัมภีร์ติกนิบาต อังคุตรนิกาย เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า ขออัญเชิญมาทั้งคำบาลีและคำแปลเพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ –
…………..
กตโม จ ภิกฺขเว ปุคฺคโล คูถภาณี
บุคคลคูถภาณีเป็นอย่างไร?
อิธ ภิกฺขเว เอกจฺโจ ปุคฺคโล
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลลางคนในโลกนี้
สภาคโต วา
เข้าสภาก็ดี
ปริสคโต วา
เข้าชุมนุมชนก็ดี
ญาติมชฺฌคโต วา
เข้าหมู่ญาติก็ดี
ปูคมชฺฌคโต วา
เข้าหมู่ข้าราชการก็ดี
ราชกุลมชฺฌคโต วา
เข้าหมู่เจ้าก็ดี
อภินีโต สกฺขิ ปุฏฺโฐ
ถูกนำตัวไปซักถามเป็นพยานว่า —
เอหมฺโภ ปุริส ยํ ชานาสิ ตํ วเทหีติ
เอาละท่านผู้เจริญ ท่านรู้อันใด จงบอกอันนั้น
โส อชานํ วา อาห ชานามีติ
บุคคลนั้น ไม่รู้ บอกว่ารู้บ้าง
ชานํ วา อาห น ชานามีติ
รู้ บอกว่าไม่รู้บ้าง
อปสฺสํ วา อาห ปสฺสามีติ
ไม่เห็น บอกว่าเห็นบ้าง
ปสฺสํ วา อาห น ปสฺสามีติ
เห็น บอกว่าไม่เห็นบ้าง
สมฺปชานมุสาภาสิตา โหติ
เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้
อตฺตเหตุ วา
เพราะเห็นแก่ตนบ้าง
ปรเหตุ วา
เพราะเห็นแก่คนอื่นบ้าง
อามิสกิญฺจิกฺขเหตุ วา
เพราะเห็นแก่ลาภผลเล็กน้อยบ้าง
อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ปุคฺคโล คูถภาณี.
บุคคลเช่นนี้แหละภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่าคูถภาณี
ที่มา: ติกนิบาต อังคุตรนิกาย
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๔๖๗
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การไม่รู้ความจริง เป็นเรื่องน่าเห็นใจ
: แต่การเอาความไม่จริงมาพูด เป็นเรื่องน่ารังเกียจ
#บาลีวันละคำ (2,657)
21-9-62