ผัสสะ (บาลีวันละคำ 2,656)
ผัสสะ
ด่านปะทะของสุขทุกข์
อ่านว่า ผัด-สะ
“ผัสสะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ผสฺส” อ่านว่า ผัด-สะ รากศัพท์มาจาก ผุสฺ (ธาตุ = กระทบ, แตะต้อง) + อ ปัจจัย, แปลง ผุสฺ เป็น ผสฺส
: ผุสฺ + อ = ผุสฺ > ผสฺส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ถูกกระทบ” หมายถึง สัมผัส, การถูกต้อง (contact, touch)
บาลี “ผสฺส” สันสกฤตเป็น “สฺปรฺศ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺปรฺศ : (คำนาม) ปรามรรศหรือสัมผัส; มโนธรรม; ทาน; พยาธิ, โรค; ผู้ทำทุกขเวทนาให้; ข้าศึกหรือศัตรู; อากาศ, ลม; อวินีตสตรี; โรคากรานโตษม์หรือพิษไข้; contact or touch; feeling; donation; sickness, disease; the agent of pain or distress; an enemy; air, wind; an unchaste woman; morbid heat.”
“ผสฺส” ในภาษาไทยใช้เป็น “ผัสสะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“ผัสส-, ผัสสะ : (คำนาม) การกระทบ, การถูกต้อง, เช่น ผัสสะทางกาย ผัสสะทางใจ, การที่ตา หู จมูก ลิ้น และกาย กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่รับรู้ได้ทางกาย เช่น ความสุขทางผัสสะ. (ป.).”
ความหมายของ “ผัสสะ” ในทางธรรม พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“ผัสสะ : การถูกต้อง, การกระทบ; ผัสสะ ๖; ดู สัมผัส.”
ตามไปดูที่คำว่า “สัมผัส” บอกไว้ดังนี้ –
“สัมผัส : ความกระทบ, การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก, ความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ มี 6 เริ่มแต่ จักขุสัมผัส สัมผัสทางตา เป็นต้น จนถึง มโนสัมผัส สัมผัสทางใจ (เรียงตามอายตนะภายใน 6); ผัสสะ ก็เรียก.”
โปรดสังเกตว่า ความหมายทางธรรม “ผัสสะ” (สัมผัส) หรือช่องทางที่รับกระทบมี 6 ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (เรียกเป็นคำศัพท์ว่า จักขุสัมผัส จนถึง มโนสัมผัส)
แต่ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ บอกช่องทางที่รับกระทบไว้เพียง 5 ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ไม่รวม “ใจ”
…………..
ในหลักคำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท (ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม) หรืออิทัปปัจจยตา (ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย) หรือปัจจยาการ (อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน) “ผัสสะ” เป็น “องค์” (factors) 1 ใน 12 ขอนำมาแสดงเป็นอลังการแห่งความรู้ดังนี้ –
(1) อวิชชา = ความไม่รู้ (ignorance)
(2) สังขาร = สภาพที่ปรุงแต่ง (kamma-formations)
(3) วิญญาณ = ความรู้แจ้งอารมณ์ (consciousness)
(4) นามรูป = นามและรูป (mind and matter)
(5) สฬายตนะ = อายตนะ 6 (six sense-bases)
*(6) ผัสสะ = ความกระทบ, ความประจวบ (contact)
(7) เวทนา = ความเสวยอารมณ์ (feeling)
(8) ตัณหา = ความทะยานอยาก (craving)
(9) อุปาทาน = ความยึดมั่น (clinging; attachment)
(10) ภพ = ภาวะชีวิต (becoming)
(11) ชาติ = ความเกิด (birth)
(12) ชรามรณะ = ความแก่และความตาย (decay and death)
คำและความได้จาก: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต
…………..
นักอธิบายธรรมะให้ความสำคัญแก่ “ผัสสะ” มาก โดยให้เหตุผลว่า เพราะมี “ผัสสะ” = การรับกระทบ จึงทำให้เกิดสุขทุกข์ตามมา สุขทุกข์ที่มนุษย์ได้รับอยู่ในชีวิตประจำวันจึงมีจุดกำเนิดมาจาก “ผัสสะ” นี่เอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ร้อยอารมณ์มากระทบหลบไม่ได้
: จงร้อยใจด้วยสติมิให้เคลื่อน
: ไม่ต้องหลบแต่ต้องรู้ผู้มาเยือน
: กระทบได้แต่ไม่กระเทือนเพราะรู้ทัน
#บาลีวันละคำ (2,656)
20-9-62