บาลีวันละคำ

อภิปราย-อธิบาย (บาลีวันละคำ 586)

อภิปราย-อธิบาย

อ่านว่า อะ-พิ-ปฺราย / อะ-ทิ-บาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (อ้างบ่อยในนามย่อว่า พจน.42) บอกไว้ว่า –

อภิปราย : พูดชี้แจงแสดงความคิดเห็น. (ส. อภิปฺราย)”

“(ส. อภิปฺราย)” หมายความว่า คำนี้มาจากภาษาสันสกฤตว่า “อภิปฺราย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

อภิปฺราย : (คำนาม) นัย; ความตั้งใจ, ความปรารถนา; การย์; ประโยค; ข้อใหญ่ใจความในหนังสือนั้นๆ meaning or sense; intention, wish; purpose; sentence; the main purport of a book”

อภิปราย” เป็นรูปคำสันสกฤต แล้วบาลีว่าอย่างไร ?

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (อ้างบ่อยในนามนี้ หรือโดยคำว่า “ฝรั่งแปลว่า” หมายถึง THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY edited by T. W. RHYS DAVIDS) ที่คำว่า “อธิปฺปาย” บอกไว้ว่า –

อธิปฺปาย : อธิ + ปฺป + อิ; สัน. อภิปฺราย

นั่นคือ “อธิปฺปาย” บาลี ตรงกับ “อภิปฺราย” ในสันสกฤต

อธิปฺปาย” (อะ-ทิบ-ปา-ยะ) รากศัพท์คือ –

1. ไทยว่า อธิ (= ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + ปย (ธาตุ = ไป) : อธิ + ปย > ปาย = อธิปฺปาย

2. ฝรั่งว่า อธิ + (= ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + อิ (ธาตุ = ไป) (ดูที่อ้างข้างต้น) : อธิ + = อธิปฺป + อิ > อาย = อธิปฺปาย

อธิปฺปาย” แปลตามศัพท์ว่า “เนื้อความอันบัณฑิตชี้แจง” “สิ่งอันบุคคลตั้งไว้ในใจ” ใช้ในความหมายว่า ความตั้งใจ, ความปรารถนา, ความอยากได้ (intention, wish, desire); ความหมาย, คำแปล, ข้อยุติ, การอนุมาน (sense, meaning, conclusion, inference)

อธิปฺปาย” ภาษาไทยใช้ว่า “อธิบาย” (อะ-ทิ-บาย) พจน.42 บอกไว้ว่า

อธิบาย : ไขความ, ขยายความ, ชี้แจง” (เทียบ อภิปราย : พูดชี้แจงแสดงความคิดเห็น)

สรุปว่า “อภิปราย” หรือ “อธิบาย” ก็คือ –

1. มีความตั้งใจ ความปรารถนา ความอยากได้ ความมุ่งหมาย วัตถุประสงค์ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในใจ

2. แสดงสิ่งนั้นออกมาเป็นข้อความ โดยการพูดหรือเขียน

: บางคน รู้ตัว คิดได้เอง ก็ไป

: บางคนต้องอธิบาย จึงไป

: บางคนถูกอภิปราย จึงยอมไป

: บางคน ทำอย่างไรๆ ก็ไม่ไป

-“ไป-ทำบุญทำกุศลเป็นเสบียงในสัมปรายภพกันบ้างนะ”

23-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย