โกลก (บาลีวันละคำ 4,669)

โกลก
บาลีก็มี โกลก
อ่านแบบไทยว่า โก-ลก
อ่านแบบบาลีว่า โก-ละ-กะ
“โกลก” ในบาลี รากศัพท์มาจาก กุลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), แผลง อุ ที่ กุ-(ลฺ) เป็น โอ (กุลฺ > โกล)
: กุลฺ + ณฺวุ > อก : กุลฺ + อก = กุลก > โกลก (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “พันธุ์ไม้ที่นับเข้าเป็นสมุนไพร” (2) “พันธุ์ไม้ที่นับเข้าเป็นพืช”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “โกลก” ไว้ดังนี้ –
(1) “พันธุ์ไม้ที่นับเข้าเป็นสมุนไพร” = กระวานเล็ก, พันธุ์ไม้ประเภทขิงข่า
(2) “พันธุ์ไม้ที่นับเข้าเป็นพืช” = พริก
ขยายความ :
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 เวลา 20:30 น.) ที่คำว่า “อำเภอสุไหงโก-ลก” บรรยายความไว้ดังนี้ –
…………..
สุไหงโก-ลก เดิมเป็นป่าดงดิบรกร้างว่างเปล่าในเขตตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงปาดี ความเป็นป่าทึบทำให้ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าจันตุหลี” หมายความว่า ทึบจนเรียกไม่ได้ยิน เหมือนหูหนวก เมื่อเริ่มมีผู้เข้ามาหักร้างถางพง จากชื่อป่าจันตุหลีเปลี่ยนเป็น “สุไหงโก-ลก” ซึ่งเป็นภาษามลายู มาจากคำว่า “สุไหง” แปลว่า แม่น้ำ ลำคลอง และคำว่า “โก-ลก” แปลว่า คดเคี้ยว ถ้าเป็นคำนามหมายถึง มีดพร้า (ที่คนพื้นเมืองนิยมใช้) เมื่อนำคำว่า สุไหง รวมกับ โก-ลก จึงหมายถึง แม่น้ำที่คดเคี้ยว หรือ แม่น้ำมีดอีโต้ ชาวบ้านคงเรียกชื่อเมืองตามแม่น้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ ปัจจุบันแม่น้ำสายนี้เป็นเส้นกั้นพรมแดนประเทศไทยกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำเขียนคำว่า “โกลก” มิได้มีเจตนาจะจูงใจให้ใครคิดไปว่า ชื่ออำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส มาจากคำว่า “โกลก” ในภาษาบาลี
โปรดทราบว่า ตามข้อมูลที่ปรากฏในเวลานี้ คำว่า “โกลก” ในชื่ออำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ไม่ได้มาจากคำว่า “โกลก” ในภาษาบาลีแต่ประการใด
ผู้เขียนบาลีวันละคำพลิกอ่านหนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) พบคำว่า “โกลก” จึงนึกไปถึงชื่ออำเภอสุไหงโก-ลก แล้วนึกสนุก ๆ ต่อไปว่า ในบาลีก็มี “โกลก” นะ ก็จึงนำมาเขียนสู่กันอ่าน-ก็เท่านั้นเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ภาษานำไปหาความรู้
: แล้วความรู้นำไปหาอะไร?
#บาลีวันละคำ (4,669)
25-3-68
…………………………….
…………………………….