บริบท

บาลีวันละคำ

บริบท (บาลีวันละคำ 749)

บริบท
อ่านว่า บอ-ริ-บด
บาลีเป็น “ปริปท” อ่านว่า ปะ-ริ-ปะ-ทะ
“ปริปท” ประกอบด้วยคำว่า ปริ + ปท
“ปริ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า รอบ, เวียน, ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด
ในภาษาไทย “ปริ” คงใช้เป็น ปริ- (อ่านว่า ปะ-ริ-) ก็มี ใช้เป็น บริ- (อ่านว่า บอ-ริ-)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปริ- ๑ : เป็นอุปสรรคในภาษาบาลีและสันสกฤต, ใช้นําหน้าศัพท์อื่นแปลว่า รอบ เช่น ปริมณฑล”
“ปท” โดยทั่วไปแปลว่า เท้า, รอยเท้า, ทาง (foot, footstep, track) ในภาษาไทยมักใช้ทับศัพท์ว่า “บท”
คำว่า ปท-บท ยังมีความหมายอื่นๆ อีก เช่น ตำแหน่ง, สถานที่, กรณี, หลักการ, ส่วนประกอบ (position, place, case, principle, ingredient)
ปริ + ปท = ปริปท > บริบท เป็นการประสมกับแบบบาลีไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บริบท : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) คํา ข้อความ หรือสถานการณ์แวดล้อมเพื่อช่วยให้เข้าใจความหมายของภาษาหรือของถ้อยคำ, ปริบท ก็ว่า”
ศ. ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน เขียนไว้ว่า –
“ในการใช้ภาษา บางครั้งข้อความที่กล่าวจะไม่กระจ่างชัดเจน, ต้องอาศัยข้อความข้างเคียง หรือในบางครั้งต้องอาศัยสถานการณ์แวดล้อม หรือความรู้เกี่ยวกับตัวผู้พูดผู้ฟังทำให้เข้าใจความหมายของถ้อยคำที่พูดนั้น. คำหรือข้อความแวดล้อม รวมทั้งสถานการณ์แวดล้อมนั้น เรียกรวมกันว่า context หรือ context of situation. ในภาษาไทยใช้คำว่า บริบท หรือ ปริบท. ปัจจุบันมีการใช้คำว่า บริบท กับสิ่งอื่นด้วย เช่น บริบททางการเมือง บริบททางสังคม”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล context เป็นไทยว่า
1. คำอธิบายซึ่งอยู่หลังคำอรรถในเทศน์, ท้องเรื่อง, อรรถาธิบาย
2. สิ่งแวดล้อม

Read More