อนมตัคคะ (บาลีวันละคำ 3,409)
อนมตัคคะ
infinity
อ่านว่า อะ-นะ-มะ-ตัก-คะ
“อนมตัคคะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อนมตคฺค” แยกศัพท์เป็น อนุ + อมต + อคฺค
(๑) “อนุ”
อ่านว่า อะ-นุ เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –
(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)
(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปล “อนุ” ว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ
(๒) “อมต”
อ่านว่า อะ-มะ-ตะ คำนี้ไม่ใช่ “อมตะ” ที่เรามักเข้าใจกันว่าอยู่ยั่งยืนไม่รู้จักตาย หากแต่มาจากรากศัพท์ว่า น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + มต (มะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้, เข้าใจ) + ต ปัจจัย, ลบ นฺ ที่สุดธาตุ (มนฺ + ต = มนต > มต), แปลง น เป็น อ (อะ) ตามกฎการแปลงเมื่อ น ไปประสมกับศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ (มต ขึ้นต้นด้วย ม– เป็นพยัญชนะ)
: น + มต = นมต > อมต แปลว่า “สิ่งที่ไม่รู้” หรือ “สิ่งที่รู้ไม่ได้”
(๓) “อคฺค”
อ่านว่า อัก-คะ ปกติแปลว่า “ที่สุด” หรือ “เบื้องปลาย” แต่เฉพาะในที่นี้เป็นศัพท์พิเศษ กล่าวคือผ่านกระบวนการทางไวยากรณ์ตามสูตรว่า –
: ปุพฺโพ เจว อคฺโค จาติ อคฺคํ แปลว่า “เบื้องต้นด้วยนั่นเทียว เบื้องปลายด้วย ดังนั้น จึงชื่อว่า อคฺค = เบื้องต้นและเบื้องปลาย”
เป็นอันว่า “อคฺค” ในที่นี้ต้องแปลว่า “เบื้องต้นและเบื้องปลาย”
กระบวนการทางไวยากรณ์ขั้นต่อไป มีสูตรว่า –
: อนุคจฺฉนฺเตน ปุคฺคเลน อมตํ อคฺคนฺติ อนมตคฺคํ. แปลว่า “เบื้องต้นและเบื้องปลาย อันบุคลตามไปอยู่ รู้ไม่ได้แล้ว ดังนั้น จึงชื่อว่า อนมตคฺค = เบื้องต้นและเบื้องปลายอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว”
อนุ + อมต + อคฺค ลบสระหน้า คือ อุ ที่ (อ)-นุ (อนุ > อน)
(๑) อนุ + อมต = อนุอมต > อนอมต > อนมต (อน + อมต สนธิกันเป็น อนมต) = สิ่งที่ตามไปดูก็รู้ไม่ได้
(๒) อนมต + อคฺค = อนมตคฺค (อะ-นะ-มะ-ตัก-คะ) = เบื้องต้นและเบื้องปลายที่ตามไปดูก็รู้ไม่ได้
(๓) อนมตคฺโค สํสาโร (อะ-นะ-มะ-ตัก-โค สัง-สา-โร) = สังสารวัฏ (คือการเวียนตายเวียนเกิด) มีเบื้องต้นและเบื้องปลายที่ตามไปดูก็รู้ไม่ได้
เอามาพูดเฉพาะคำว่า “อนมตคฺโค” ละคำว่า “สํสาโร” ไว้ในฐานเข้าใจ
คำว่า “อนมตคฺโค” เขียนแบบไทยเป็น “อนมตัคคะ” (อะ-นะ-มะ-ตัก-คะ) แปลเอาความว่า การเวียนตายเวียนเกิดอันหาจุดเริ่มต้นและจุดจบไม่พบ
ขยายความ :
คัมภีร์อรรถกถาขยายความคำว่า “อนมตัคคะ” ไว้ดังต่อไปนี้ –
…………..
อนมตคฺโคติ อนุอมตคฺโค ฯ
คำว่า อนมตคฺโค แปลว่า มีเบื้องต้นและเบื้องปลายอันบุคคลตามไป (เพื่อจะหาให้พบ) ก็รู้ไม่ได้ (คือหาไม่พบ).
วสฺสสตํ วสฺสสหสฺสํ ญาเณน อนุคนฺตฺวาปิ อมตคฺโค อวิทิตคฺโค
อธิบายว่า สังสารวัฏแม้จะตามไปด้วยญาณ (คือส่งกระแสญาณติดตามไปดู) ตั้งร้อยปี พันปี ก็รู้เบื้องต้นและเบื้องปลายไม่ได้ คือทราบไม่ได้.
นาสฺส สกฺกา อิโต วา เอตฺโต วา อคฺคํ ชานิตุํ อปริจฺฉินฺนปุพฺพาปรโกฏิโกติ อตฺโถ ฯ
สงสารวัฏนั้นใครๆ ไม่อาจรู้ได้ว่า ข้างนี้สิ้นสุดที่นี่ ข้างโน้นสิ้นสุดที่โน่น คือกำหนดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้.
ที่มา: สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตนิกาย ภาค 2 หน้า 247 (ติณกฏฺฐสุตฺตวณฺณนา)
…………..
มีพระพุทธพจน์ในคัมภีร์สังยุตนิกาย นิทานวรรค อนมตัคคสังยุต พระไตรปิฎกเล่ม 17 ข้อ 421-461 แสดงถึงการเวียนตายเวียนเกิดในสังสารวัฏอันหาจุดเริ่มต้นและจุดจบไม่พบว่า คนที่ไม่เคยเกิดเป็นอะไรๆ กันมาก่อนเลยนั้นหาได้ยากยิ่ง
ความข้อนี้ คัมภีร์วิสุทธิมรรคนำมาสรุปไว้ดังนี้ –
…………..
ตตฺร หีทํ วุตฺตํ
ในเรื่องนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
น โส ภิกฺขเว สตฺโต สุลภรูโป
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่หาได้ง่าย ผู้ที่…
โย น มาตา ภูตปุพฺโพ
ไม่เคยเป็นมารดา
โย น ปิตา ภูตปุพฺโพ
ไม่เคยเป็นบิดา
โย น ภาตา
ไม่เคยเป็นพี่น้องชาย
โย น ภคินี
ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิง
โย น ปุตฺโต
ไม่เคยเป็นบุตร
โย น ธีตา ภูตปุพฺโพติ ฯ
ไม่เคยเป็นธิดา
(ของกันและกัน) มาก่อน
ที่มา: วิสุทธิมรรค ภาค 2 หน้า 105
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้จักจิต
: รู้จักจบ
#บาลีวันละคำ (3,409)
12-10-64