บาลีวันละคำ

สนฺติกํ สู่สำนัก (บาลีวันละคำ 3,009)

สนฺติกํ สู่สำนัก

ภาษาไทยไม่มี

แต่นักเรียนบาลีไม่รู้ไม่ได้

สนฺติกํ” อ่านว่า สัน-ติ-กัง รูปคำเดิมเป็น “สนฺติกํ” (สัน-ติ-กะ) รากศัพท์มาจาก สห (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ด้วยกัน) + อนฺต (ภายใน, ที่ใกล้) + อิก ปัจจัย, แปลง สห เป็น

: สห + อนฺต = สหนฺต + อิก = สหนฺติก > สนฺติก แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันเป็นไปพร้อมกับความใกล้” หมายถึง จุดที่ใกล้, การอยู่ต่อหน้า (vicinity, presence)

อภิปรายขยายความ :

ในการเรียนบาลี ประโยคหนึ่งที่นักเรียนจะพบบ่อยๆ คือ “สตฺถุ  สนฺติกํ  คนฺตฺวา … ”

แปลยกศัพท์ :

คนฺตฺวา = ไปแล้ว

สนฺติกํ = สู่สำนัก

สตฺถุ = ของพระศาสดา

“สตฺถุ  สนฺติกํ  คนฺตฺวา … ” = ไปสู่สำนักของพระศาสดา

ถ้าไม่ได้เรียนบาลี ฟังข้อความนี้แล้วจะต้องเข้าใจว่า พระศาสดาทรงตั้งสำนักขึ้นมาแห่งหนึ่ง เหมือนกับสำนักดาบ สำนักครูมวย สำนักตักสิลา-ประมาณนั้น แล้วก็มีผู้คนพากัน “…ไปสู่สำนักของพระศาสดา

แต่ความหมายจริงๆ ของประโยคนั้นหาใช่เช่นนั้นไม่ โปรดพิจารณาตัวอย่าง “สนฺติก” ที่ประกอบวิภัตติแล้ว ดังนี้ –

สนฺติกํ” แปลตามสำนวนนิยมของนักเรียนบาลีว่า “สู่สำนัก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า into the presence of, towards (เข้าไปเฉพาะหน้า)

สนฺติกา” แปลตามสำนวนนิยมของนักเรียนบาลีว่า “จากสำนัก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า from the presence of, from (ข้างหน้า, จากเฉพาะหน้าของ-, จาก)

สนฺตเก” แปลตามสำนวนนิยมของนักเรียนบาลีว่า “ในสำนัก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า in the presence of, before, with (ต่อหน้า, ข้างหน้า, กับ)

ข้อสังเกตในภาษาไทย และความรู้เสริม: เทียบกับคำว่า “ศูนย์” (สันสกฤต) และ “สูญ” (บาลี)

(1) “ศูนย์” กับ “สูญ” ใช้ในความหมายตรงกันคือ ว่างเปล่า, หายไป, หมดไป

(2) แต่ที่หมายถึง ตัวเลข 0, จุดกลาง, ใจกลาง, แหล่งกลาง, แหล่งรวม ใช้ “ศูนย์” (สันสกฤต) ไม่ใช้ “สูญ” (บาลี)

(3) จุดกลาง ใจกลาง หรือศูนย์กลาง ตามข้อ (2) ตรงกับคำอังกฤษว่า centre หรือ center นักบาลีสมัยใหม่บางท่านบอกว่า centre หรือ center นี่เองที่มีความหมายตรงกับ “สนฺติก

center – สนฺติก ถ้าอ่านแบบไทยว่า สัน-ติก เสียงใกล้กัน

(4) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สนฺติก” เป็นอังกฤษว่า vicinity, presence ไม่ได้แปลว่า center

(5) พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล center เป็นบาลีว่า –

majjha มชฺฌ (มัด-ชะ) = ตอนกลาง

vemajjha เวมชฺฌ (เว-มัด-ชะ) = ศูนย์กลาง

mūlaṭṭhāna มูลฏฺฐาน (มู-ลัด-ถา-นะ) = สถานที่ใกล้ชิด

ไม่มีคำแปลว่า “สนฺติก

(6) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เวมชฺฌ” เป็นอังกฤษว่า centre

สรุปว่า ผู้นั้นหรือสิ่งนั้นอยู่ที่ไหนอยู่ตรงไหน ที่นั้นตรงนั้นนั่นแหละคือความหมายของคำว่า “สนฺติก” ของผู้นั้นสิ่งนั้น

โดยนัยนี้ “สนฺติกํ คนฺตฺวา” ก็ตรงกับคำไทยที่ว่า “ไปหา-” เช่นในคำว่า ไปหาหลวงพ่อ ไปหาเพื่อน ไปหาหมอ ไปหาใคร ก็คือ “ไปสู่สำนัก” ของผู้นั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไปหาใคร

: ไม่สำคัญเท่ากับไปหาอะไร

#บาลีวันละคำ (3,009)

7-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย