บาลีวันละคำ

วีดิทัศน์ (บาลีวันละคำ 3,010)

วีดิทัศน์

ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยฯ

อ่านว่า วี-ดิ-ทัด

ประกอบด้วยคำว่า วีดิ + ทัศน์

(๑) “วีดิ

คำนี้ ตามที่ปรากฏในบทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ระบุว่า มาจากคำสันสกฤตว่า “วีติ” แปลว่า “ความสนุกสนานรื่นเริง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นเครื่องมือค้นคว้ามีคำว่า “วีติ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วีติ : (คำนาม) การไป, การเดิรหรือเคลื่อนที่; การกิน; การสร้าง; การชำระหรือล้าง; อาภา; ม้า; going, walking or moving; eating; engendering or producing; cleaning or cleansing; light; a horse.”

ตามความหมายที่สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ให้ไว้นี้ ไม่มีคำใดที่หมายถึง-หรือที่พอจะตีความได้ว่า “ความสนุกสนานรื่นเริง

ท่านผู้ใดเชี่ยวชาญสันสกฤต ขอแรงเข้ามาช่วยบูรณาการหรือเติมเต็มช่องโหว่ตรงนี้ให้ด้วย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “วิตฺติ” อีกคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้

วิตฺติ : (คำนาม) วิจาร; พุทธิ; ลาภ; สัมภาวยตา, ความอาจเปนได้; judgment or discussion; knowledge; acquisition or gain; probability or likelihood.”

ก็ยังคงไม่มีคำที่หมายถึง “ความสนุกสนานรื่นเริง” อยู่นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม บาลีก็มี “วิตฺติ” เช่นเดียวกับสันสกฤต “วิตฺติ” ในบาลีรากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = ได้, ประสบ) + ติ ปัจจัย, ลบ ทฺ ที่สุดธาตุ แล้วซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (วิทฺ > วิ + ตฺ + ติ) หรือแปลง ทฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ

: วิทฺ > วิ + ตฺ + ติ = วิตฺติ

: วิทฺ + ติ = วิทฺติ > วิตฺติ

วิตฺติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุให้ได้ความสุข” หมายถึง ความรุ่งเรือง, ความสุข, ความเพลิดเพลิน, ความมั่งคั่ง (prosperity, happiness, joy, felicity)

เป็นไปได้ที่ “วิตฺติ” นี่เองเอาไปแผลงเป็น “วีติ” หรือในทางกลับกัน “วีติ” นั่นแหละรัสสะ อี เป็น อิ แล้วซ้อน ตฺ ก็เป็น “วิตฺติ

สรุปว่า ถ้าคล้อยตามบทวิทยุของราชบัณฑิตยสภาที่บอกว่า “วีดิ” มาจากคำสันสกฤตว่า “วีติ” แปลว่า “ความสนุกสนานรื่นเริง” “วีติ” ที่อ้างนี้ก็คือ “วิตฺติ” ซึ่งเป็นรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต

: วิตฺติ > วีติ > วีดิ แปลโดยประสงค์ว่า ความสุข, ความเพลิดเพลิน (happiness, joy)

(๒) “ทัศน์

บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทิสฺ > ทสฺส + ยุ > อน = ทสฺสน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็น” หมายถึง –

(1) การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look)

(2) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)

ทสฺสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทัศน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา : (คำนาม) ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).”

วีดิ + ทัศน์ = วีดิทัศน์ แปลโดยประสงค์ว่า “ภาพที่เห็นอันก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน

อภิปรายขยายความ :

เป็นที่รู้กันว่า “วีดิทัศน์” คำนี้บัญญัติขึ้นจากคำว่า video ในภาษาอังกฤษ

คนทั่วไป-รวมทั้งผู้เขียนบาลีวันละคำด้วย-มักเข้าใจว่า “วีดิ-” คำนี้ถอดคำมาจาก video คือ vide- นั่นเองถอดออกมาเป็น “วีดิ-”

คำว่า “วีดิทัศน์” จึงเป็นศัพท์บัญญัติข้ามสายพันธุ์ กล่าวคือ “วีดิ-” เป็นคำฝรั่ง “-ทัศน์” เป็นบาลีสันสกฤต

ตามหลักการบัญญัติศัพท์ ท่านว่าคำที่จะเอามาสมาสสนธิกันต้องเป็นคำที่มาจากภาษาเดียวกัน ถ้าเป็นบาลีสันสกฤตก็ต้องเป็นบาลีสันสกฤตด้วยกัน ไม่ใช่คำหนึ่งเป็นอังกฤษ คำหนึ่งเป็นบาลีสันสกฤต เช่น “วีดิทัศน์” เป็นต้น

แต่เมื่อรู้ที่ไปที่มาแล้ว ก็ขอได้โปรดเข้าใจโดยทั่วกันว่า คำว่า “วีดิทัศน์” เป็นบาลีสันสกฤตทั้ง 2 ศัพท์ “วีดิ-” ไม่ได้มาจาก vide- ในภาษาอังกฤษ แต่เป็น “วีติ” ในบาลีสันสกฤต คือ : วิตฺติ > วีติ > วีดิ แปลว่า ความสุข, ความเพลิดเพลิน (happiness, joy)

และควรนับว่าเป็นความฉลาดแนบเนียนของผู้คิดคำนี้ ที่เลือกคำที่มีเสียงล้อกันอย่างกลมกลืนกับภาษาเดิม เทียบได้กับ seminar ที่บัญญัติเป็น “สัมมนา” นั่นเทียว

เว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสภา ที่คลังความรู้ มีคำว่า “วีดิทัศน์” ขอยกมาเสนอไว้ในที่นี้เต็มตามต้นฉบับ ดังนี้

…………..

วีดิทัศน์

          คำว่า วีดิทัศน์ เป็นศัพท์บัญญัติตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า video (อ่านว่า วิ-ดี-โอ). ศาสตราจารย์ ดร. คุณบรรจบ  พันธุเมธา เป็นผู้คิดคำนี้ขึ้น โดยเห็นว่า คำว่า “วีติ” ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “ความสนุกสนานรื่นเริง” มีเสียงใกล้เคียงกับคำว่า video ในภาษาอังกฤษ เมื่อเติมคำว่า “ทัศน์” ลงไปข้างท้าย ก็อาจจะแปลได้ว่า “เครื่องที่แสดงภาพเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง”

          คำว่า วีดิทัศน์ ในภาษาไทยเขียน ว แหวน  สระอี  ด เด็ก  สระอิ  ท ทหาร  ไม้หันอากาศ ศ ศาลา  น หนู การันต์

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

…………..

ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์ “วีดิทัศน์” ตั้งแต่ พ.ศ.2544 (ดูภาพประกอบ) ก่อนชำระปรับปรุงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มาเป็นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ถึง 10 ปี แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ยังไม่ได้เก็บคำว่า “วีดิทัศน์” ไว้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่มีภาษา

: อนาถายิ่งกว่าไม่มีแผ่นดิน

#บาลีวันละคำ (3,010)

8-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย