บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถ้าไม่สืบให้ถึงต้นสาย

ถ้าไม่สืบให้ถึงต้นสาย

———————–

ความหมายก็ผิดเพี้ยน

ระหว่าง พ.ศ.๒๕๓๔ – ๒๕๓๖ ผมรับราชการในตำแหน่งอนุศาสนาจารย์โรงเรียนนายเรือ กัลยาณมิตรท่านหนึ่งที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันมาตลอดคือ พลเรือตรี ทองใบ ธีรานันทางกูร (ในขณะที่เป็นนาวาเอก ทองใบ หงษ์เวียงจันทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ฝ่ายศึกษา โรงเรียนนายเรือ) 

ท่านอาจารย์ทองใบจบเปรียญธรรม ๙ ประโยคจากสำนักวัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ เป็นศิษย์เก่า London School of Economics & Political Science (LSE) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน 

ในฐานะคนมาจากรั้ววัดเหมือนกัน ทำงานที่เดียวกัน สนทนาธรรมกันทุกวัน ท่านอาจารย์ทองใบแนะนำให้ผมเขียนหนังสืออย่างน้อยก็ ๒ เล่ม 

๑ ในนั้นคือ “โคลงโลกนิติฉบับถอดความ” 

วันหนึ่ง เราคุยกันถึงโคลงโลกนิติ ท่านอาจารย์ทองใบเล่าให้ฟังว่า ท่านได้ไปอ่านตำราวิชาการเล่มหนึ่งของอาจารย์ท่านหนึ่ง-ซึ่งถ้าเอ่ยนามก็จะมีคนรู้จักกันดี-ท่านมีชื่อเสียงในทางจัดทำตำรับตำราประเภท “คู่มือ” วิชาต่างๆ สำหรับครูและนักเรียนนักศึกษา ตำราเล่มหนึ่งของท่านคือคู่มือวิชาภาษาไทย มีการถอดความโคลงโลกนิติบทหนึ่งที่ว่า

คนตื่นคืนหนึ่งช้า จริงเจียว

มล้าวิถีโยชน์เดียว ดุจร้อย

สงสารหมู่พาลเทียว ทางเนิ่น นานนา

เพราะบ่เห็นธรรมน้อย หนึ่งให้เป็นคุณฯ 

(ประชุมโคลงโลกนิติฉบับหอสมุดแห่งชาติ บทที่ ๑๗๓

โคลงโลกนิติฉบับประชุมจารึกวัดพระเชตุพน บทที่ ๑๗๔)

บาทที่ ๑ และบาทที่ ๒ ไม่มีปัญหา แต่บาทที่ ๓ ท่านถอดความว่า “น่าสงสารพวกคนพาลเสียยิ่งนักที่จะต้องเดินทางไปอีกเนิ่นนาน” 

ความในโคลงบาทที่ ๓ นี้อ่านเผินๆ ก็ชวนให้ถอดความดังเช่นที่อาจารย์ท่านนั้นได้ถอดไว้ แต่ถ้าสืบสาวไปให้ถึง “ที่มา” ของสุภาษิตก็จะพบว่า ภาษิตเดิมที่เป็นคำบาลีท่านว่าไว้ดังนี้ – 

ทีฆา ชาครโต รตฺติ

ทีฆํ สนฺตสฺส โยชนํ

ทีโฆ พาลาน สํสาโร

สทฺธมฺมํ อวิชานตํ.

(พาลวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๕)

แปลความได้ดังนี้ 

บาทที่ ๑: สำหรับคนตื่น (คือนอนไม่หลับ) ราตรีย่อมยาวนาน

บาทที่ ๒: สำหรับคนเหนื่อยล้า ระยะทางโยชน์เดียวย่อมยาวไกล

บาทที่ ๓: สำหรับคนโง่เขลา การเวียนว่ายตายเกิดย่อมยาวยืด

บาทที่ ๔: (ทั้งนี้เพราะ) ไม่รู้แจ้งธรรมะอันถูกต้อง 

คำว่า “สงสาร” ในโคลงบาทที่ ๓ มาจากศัพท์ว่า “สํสาโร” ซึ่งแปลว่า “การเวียนว่ายตายเกิด” ไม่ใช่ “สงสาร” เช่น-โถ น่าสงสาร! อย่างที่พูดกันในภาษาไทย 

การถอดความโคลงบาทที่ ๓ ว่า … “น่าสงสารพวกคนพาลเสียยิ่งนัก …” ดังนี้ จึงคลาดเคลื่อนไปจากความหมายเดิมเป็นอันมาก 

……………

ยังมีโคลงโลกนิติอีกบทหนึ่ง ต้นฉบับที่คัดลอกพิมพ์ต่อกันมาว่าดังนี้

นกแร้งบินได้เพื่อ เวหา

หมู่จระเข้เต่าปลา พึ่งน้ำ

เข็ญใจพึ่งราชา จอมราช

ลูกอ่อนอ้อนกลืนกล้ำ เพื่อน้ำนมแรงฯ

(ประชุมโคลงโลกนิติฉบับหอสมุดแห่งชาติ บทที่ ๔๕

โคลงโลกนิติฉบับประชุมจารึกวัดพระเชตุพน บทที่ ๔๖)

เมื่อถอดความมาถึงโคลงโลกนิติบทนี้ ผมสะดุดใจตรงคำว่า “นกแร้ง” สงสัยว่า ทำไมจึงต้องระบุเฉพาะ “นกแร้ง”? มีอะไรเกี่ยวข้องกับนกแร้งโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับนกชนิดอื่นกระนั้นหรือ?

โคลงบทนี้ “ที่มา” ในคัมภีร์ที่เป็นภาษาบาลีว่าดังนี้ –

ปกฺขีนํ พลมากาโส

มจฺฉานมุทกํ พลํ

ทุพฺพลสฺส พลํ ราชา

กุมารานํ รุทํ พลํ.

(โลกนิติ, ธรรมนิติ, จาณักยศตกะ) 

แปลความว่า – 

อากาศเป็นแรงของนก (ได้ที่โล่งว่าง นกก็บินไปได้)

อุทกเป็นแรงของปลา (ได้น้ำ ปลาก็ว่ายไปได้)

พระราชาเป็นแรงของคนเข็ญใจ (ได้พึ่งพระราชา คนเข็ญใจก็อยู่รอดได้)

ร้องไห้เป็นแรงของเด็กน้อย (เด็กร้องไห้ ผู้ใหญ่ก็ต้องมาดูแล)

ต้นฉบับบาลีบาทแรกบอกว่า “ปกฺขีนํ พลมากาโส” แปลตามศัพท์ว่า “อากาศ (คือที่โล่งว่าง) เป็นกำลังของปักษีทั้งหลาย”

“ปกฺขีนํ” แปลว่า “ของปักษีทั้งหลาย” คือนกทั่วไป ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็น “นกแร้ง” เท่านั้น ถ้ามีอากาศคือที่โล่งที่ว่าง นกทุกชนิดที่บินได้ย่อมสามารถบินไปได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะนกแร้งชนิดเดียว 

คำว่า “นกแร้ง” ในโคลงจึงมีพิรุธ 

เมื่อดูศัพท์บาลี “ปกฺขีนํ” แปลว่า นก “พลํ” แปลว่า กำลังหรือแรง “อากาโส” แปลว่า อากาศ ก็เห็นได้ว่า คำว่า “พลํ” ที่แปลว่า “กำลัง” คือ “แรง” นี่เองที่ท่านเอาไปแต่งเป็นโคลงว่า “นกแรงบินได้เพื่อ เวหา” แปลว่า นกจะมีแรงบินได้ก็เพราะมีที่ว่าง 

คำนั้นคือ “นกแรงบิน” คือ นกมีแรงบินได้ 

แต่คนอ่านต้นฉบับไม่ทันพิจารณา เห็นคำว่า “นกแรง” ก็เข้าใจไปว่า “นกแร้ง” (คือที่เรามักเรียกกันว่า อีแร้ง) อาจนึกไปว่าคงตกไม้โท 

“นกแรง” จึงกลายเป็น “นกแร้ง” ซึ่งให้ภาพชัดไปอีกแบบหนึ่ง แต่เป็นภาพที่ผิดจากเจตนาเดิม

โคลงบทนี้ผมถอดความคล้อยตามโคลงว่า 

นกจะบินได้ก็เพราะมีท้องฟ้า 

จระเข้เต่าปลาจะมีกำลังก็เพราะได้น้ำ

คนตกระกำจะรอดได้ก็เพราะพึ่งเจ้าบ้านผ่านเมือง

ลูกอ่อนจะได้กินนมเนืองๆ ก็เพราะออดอ้อนคร่ำครวญ

โปรดสังเกตด้วยว่า ในบาทที่ ๒ คาถาต้นฉบับท่านบอกแต่เพียง “มจฺฉานํ” (มจฺฉานมุทกํ) คือ ปลาทั่วไป แต่โคลงโลกนิติภาษาไทยแถมจระเข้กับเต่าเข้าไปด้วย 

นี่ถ้าไม่สืบไปที่ต้นฉบับเราก็จะไม่มีทางรู้ว่าอะไรมันผิดเพี้ยนไปอย่างไร 

แต่ที่เถียงได้อย่างแน่นอนก็คือ “ปกฺขีนํ” แปลว่า นกทั่วไป มีเหตุผลอะไรจึงไปเปลี่ยนของท่านให้เป็น “นกแร้ง”?

ที่ยกโคลงโลกนิติ ๒ บทมาเป็นตัวอย่างก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ถ้าจับเอาแต่ปลายน้ำปลายทาง ไม่ศึกษาสืบสาวไปให้ถึงต้นน้ำต้นทาง เราก็มีโอกาสพลาด คือจะได้สิ่งที่แปลกปลอมเคลือบแฝงผิดเพี้ยนไปจากหลักเดิม แล้วก็หลงยึดถือว่านั่นเป็นของแท้ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ กันยายน ๒๕๖๓

๑๗:๕๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *